"ขำกลิ้งลิงกับหมา" ออกฉายทางโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์มาหลายเดือน แต่กระแสความแรงยังคงไม่ตกหล่น ฮิตติดลมบนเหมือนเดิม เพราะความฉลาด น่ารัก แสนรู้ของ "ปังคุง" ลิงชิมแปนซีพระเอกตามท้องเรื่อง กับคู่หู "เจมส์" สุนัขบูลด๊อกหน้าตายียวน
ด้วยเหตุที่เจ้า "ปังคุง" สามารถทำภารกิจยากๆ ในแต่ละสัปดาห์ได้ลุล่วงเป็นส่วนมาก ทำให้คนดูบางส่วนพากันตั้งคำถามกันอื้ออึงว่า ปังคุงฉลาดจริงหรือเปล่า งานนี้ทางทีมงานญี่ปุ่นเล่นมุข "จัดฉาก" หรือไม่
วันนี้เรารวบรวมผลวิจัยการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของ "ชิมแปนซี" ลิงสายพันธุ์เดียวกับปังคุงมาเป็นข้อมูล เพื่อช่วยคลี่คลายความสงสัยต่างๆ
จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เท่าที่มีในปัจจุบัน
นักชีววิทยาเชื่อว่า ในอดีตกาลย้อนกลับไปไกลถึง 6 ล้านปีก่อน
"มนุษย์" และ "ลิงใหญ่" มีบรรพบุรุษร่วมกัน
แต่ต่อมาได้วิวัฒนาการแยกจากกันเป็นสายพันธุ์ลิงใหญ่และสายพันธุ์มนุษย์อย่างเด็ดขาด
ลิงใหญ่ที่ว่านี้ก็คือ ชะนี อุรังอุตัง กอริลล่า และชิมแปนซี ต้นตระกูลของปังคุง ดาราเด่นประจำรายการ "ขำกลิ้งลิงกับหมา" นั่นเอง
ชิมแปนซีนั้น มีรหัสพันธุกรรมเหมือนมนุษย์ถึง 96 เปอร์เซนต์ และยังแยกย่อยออกเป็น 2 พันธุ์หลัก
ชิมแปมซีทั่วไป "Pan Troglodytes" กับ ชิมแปนซีแคระ "Pan Paniscus" หรือ "โบโนโบ"
ลิงชิมแปนซี พบมากในแอฟริกาและพื้นที่เขตป่าฝน
มีอายุขัยราว 50-60 ปี
แบ่งเวลาใช้ชีวิตอยู่เท่าๆ กัน ทั้งบนพื้นดินและบนต้นไม้
อุปนิสัยชอบอยู่รวมกลุ่มกันเป็นฝูงแบบหลวม ตั้งแต่ 10 ตัวไปจนถึง 100 กว่าตัว
แต่ละฝูงจะหวงแหนอาณาเขตของตัวเองอย่างมาก
เป็นเหตุให้เกิดการตะลุมบอนบ่อยครั้งกับลิงฝูงอื่นที่รุกล้ำเข้ามา
ลิงเพศผู้จะเป็นใหญ่ในฝูง และมีชีวิตยึดติดอยู่กับแม่ของมันจนวันตาย
ตามปกติแล้ว ชิมแปนซีเพศเมียจะออกลูกครั้งละ 1 ตัว
เมื่อคลอดออกมาแล้ว ลูกลิงจะยืนได้ด้วยตัวเองภายใน 6 เดือน แต่จะยังติดสอยหอยตามแม่ไปจนถึงอายุ 3 ปี จากนั้นเริ่มแยกจากอกแม่เมื่ออายุ 4 ปี และเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 8-10 ปี
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ความฉลาดที่ชัดเจนที่สุดของชิมแปนซีก็คือ
มันสามารถใช้ความคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และเรียนรู้จากสิ่งที่เคยทำไปแล้วในอดีต
นับเป็นความฉลาดที่คล้ายกับมนุษย์ แม้จะยังห่างกันหลายเท่าก็ตาม
หนึ่งในความฉลาดเฉลียวของชิมแปนซี ได้แก่
การเรียนรู้ที่จะนำเอาวัตถุรอบๆ ตัวตามธรรมชาติ มาดัดแปลงเป็น "เครื่องมือ" เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิต
ยกตัวอย่างเช่น นำเอา "หิน" กับ "ท่อนไม้" มาใช้เป็นอาวุธ
และใช้หินเป็นเครื่องมือกะเทาะ หรือทุบเปลือกพืชต่างๆ ก่อนกินเข้าไป
นอกจากนั้น ยังนำเอา "ไม้" หรือ "กิ่งไม้" มาใช้เป็นเครื่องมือจับ "ปลวก" จากรังจอมปลวกมากินได้ด้วย
ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2547 คณะนักวิจัย ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ติดกล้องวิดีโอเฝ้าบันทึกพฤติกรรมของชิมแปนซีในหลายพื้นที่ทั่วแอฟริกา จนพบว่า
พวกมันมีวิธีการจัดหาเครื่องมือเพื่อจับปลวกมากินอย่างเป็นระบบ
นั่นคือ ชิมแปนซีจะเลือกกิ่งหรือท่อนไม้ที่เหมาะสมสำหรับเสียบเข้าไปในรังจอมปลวก
เมื่อทะลวงจนเป็นรูเรียบร้อยแล้ว ก็จะสอดใบไม้ที่มีความเหนียวเข้าไปด้านใน เพื่อดึงปลวกออกมาจากรูอย่างง่ายดาย
ขณะเดียวกัน ลูกชิมแปนซีก็จะมานั่งดูวิธีการหาเหยื่อของลิงรุ่นใหญ่ เพื่อจดจำ-ลอกเลียนแบบนำไปใช้ต่อไป
และพบด้วยว่า มันเรียนรู้วิธีการนำกิ่งไม้ธรรมดาๆ มาทำเป็น "หอก" ใช้แทงฆ่าสัตว์อื่นๆ กินเป็นอาหาร
อาหารของชิมแปนซีมีนับร้อยๆ ชนิด ไม่ว่าจะเป็นผลไม้ ดอกไม้ใบหญ้า พืชพรรณต่างๆ รวมทั้งแมลงตัวเล็กๆ
แต่ก็กิน "เนื้อสัตว์" ด้วยกันเช่นกัน
ขณะยังเป็นลูกลิง พวกมันจะกินผลไม้ทุกชนิด แบบไม่เลือกหน้า ไม่เลือกว่าสุกหรือดิบ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเติบโตขึ้นมา ชิมแพนซีจะเลือกกินเฉพาะผลไม้ที่ "สุกแล้ว" เท่านั้น
เวลาอยู่ไกลแหล่งน้ำ และต้องการหาน้ำดื่ม
นักวิจัยพบว่า มันจะใช้วิธีเคี้ยวใบไม้จนยุ่ยเหมือนฟองน้ำ แล้วนำไปวางไว้ตามซอกหิน เพื่อคอยดักซึมซับหยดน้ำมาดื่มอีกที
ชิมแปนซียังสามารถ "แสดงสีหน้า" เพื่อบ่งบอกอารมณ์ต่างๆ ให้ลิงตัวอื่นรู้
เช่น ยามอารมณ์ดี เรียวปากจะดูเหมือนเวลาคนยิ้ม แต่ปากอ้าเล็กน้อย
ถ้าทำปากยื่นออกไปตรงๆ แสดงว่าต้องการอาหาร
ถ้าปากยื่นเผยอขึ้นไปด้านบน แปลว่ายอมแพ้คู่ต่อสู้
ถ้าอ้าปากค้าง หมายถึงกำลังตื่นตกใจ หรือตื่นเต้นอย่างรุนแรง
หรือถ้าต้องการแสดงความเป็นศัตรูก็จะแยกเขี้ยวยิงฟัน ขนตรงใบหน้าตั้งชัน เพื่อข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม
ปัจจุบัน ประชากรชิมแปนซีลดลงอย่างน่าวิตก เพราะผลกระทบจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปิดทางให้มนุษย์เข้าไปสร้างถิ่นฐานและทำการเกษตร อีกทั้งยังล้มตายเพราะโรคระบาด เช่น "อีโบลา" และถูกจับมาใช้ในการทดลองทางการแพทย์เพื่อผลิตยาให้กับมนุษย์ (ข่าวสด ฉบับ 24 เม.ย. 2550)
Labels: ชีววิทยา