Wednesday, September 13, 2006

"อะเมซอน อันบ็อกซ์" ขายหนัง-ละครออนไลน์

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2549 เว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ "อะเมซอน ดอท คอม" เพิ่งเปิดตัวบริการใหม่ ที่ทีมผู้บริหาร นำโดยเจฟฟรีย์ เบซอส คาดหมายว่าจะเป็น "อนาคต" ของการชม-ซื้อ-เช่าภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มาดูบนคอมพิวเตอร์

นั่นคือ "อะเมซอน อันบ็อกซ์" แปลเป็นไทย "แกะกล่องอะเมซอน" คงพอไหว

ในช่วงตั้งไข่บริการตัวนี้เปิดจำหน่ายเฉพาะลูกค้าที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาชิมลางก่อน

สินค้าที่นำเสนอ ได้แก่ ละคร-รายการทีวี รวมทั้งภาพยนตร์ดังๆ ในรูปแบบไฟล์ดิจิตอล ซึ่งผ่านการคัดสรรมาแล้วจากสถานีและสตูดิโอใหญ่ๆ ที่ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ

เช่น วอร์เนอร์บราเธอร์ส ยูนิเวอร์ซอล ซีบีเอส บีบีซี ฟ็อกซ์ การ์ตูนเน็ตเวิร์ก ดิสคัฟเวอรี่แชนแนล เอ็มทีวี ฯลฯ

อัตราค่าดาวน์โหลดละคร 1 ภาค อยู่ที่ 1.99 เหรียญ (79 บาท)

สำหรับภาพยนตร์มีหลายอัตรา ขึ้นอยู่กับความเก่า-ใหม่ เฉลี่ยตั้งแต่ 7.99-14.99 เหรียญ (319-599 บาท)

ในส่วนของภาพยนตร์ยังมีบริการให้ "เช่า" ชมด้วย ในราคา 3.99 เหรียญ (159 บาท)

ฟังก์ชัน หรือคุณสมบัติพิเศษของอะเมซอน อันบ็อกซ์ ก็คือคุณภาพความชัดเจนของหนัง ที่คุยว่าเทียบเท่า "ดีวีดี"

และเมื่อดาวน์โหลดไฟล์หนังไปได้ราวๆ 5 นาที ก็สามารถเปิดดูหนังไปพร้อมๆ กับรอดาวน์โหลดไฟล์จนจบได้เลย

อย่างไรก็ตาม บรรดานักข่าวที่ทดลองใช้บริการนี้บอกว่า ยังมี "ข้อจำกัด" ยุ่บยั่บมากเกินไป จนอาจส่งผลให้ยอดรายได้ไม่เข้าเป้า

ยกตัวอย่างเช่น ระบบเช่าหนังมาดูนั้นเมื่อโหลดมาแล้วต้องดูภายใน 30 วัน และทันทีที่เปิดดูก็ต้องดูให้จบภายใน 24 ชั่วโมง

ส่วนภาพระดับดีวีดี ถึงจะดีขนาดไหนย่อมไม่มีทางเท่ากับการซื้อดีวีดีมาเปิดดูบนโทรทัศน์ความละเอียดสูง (เอชดีทีวี) อย่างแน่นอน

นอกจากนั้นลูกค้าอะเมซอน อันบ็อกซ์ ยังต้องมีคอมพิวเตอร์ที่ลงโปรแกรม "วินโดว์เอ็กซ์พี เซอร์วิสแพ็ก 2" มีอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ และโปรแกรมเปิดดูหนังอันบ็อกซ์ที่โหลดมาก็ใช้ดูไฟล์หนังที่โหลดมาจากเว็บไซต์อื่นไม่ได้

ในวันนี้มีข่าวว่าคู่แข่งขันสำคัญของอะเมซอน คือ "แอปเปิ้ล" จะเปิดตัวบริการขายหนัง-ละครออนไลน์เหมือนกัน ซึ่งแม้จะมีหนังน้อยกว่า แต่มีภาษีดีกว่าตรงที่มีกลุ่มฐานลูกค้าเครื่องเล่น "ไอพ็อด" (ของแอปเปิ้ล) อยู่หลายล้านคนทั่วโลก

ศึกงวดนี้ใครจะอยู่ใครจะไปผู้บริโภคไม่เกี่ยว ปล่อยให้แข่งกันเต็มที่แบบนี้ลูกค้ามีแต่จะได้ของดีราคาถูก

เกาหลีใต้มุ่งพัฒนา "หุ่นยนต์นักบริการ"

อย่างที่เคยเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังว่า รัฐบาลเกาหลีใต้หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องผงาดขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรม "หุ่นยนต์" ให้ได้

หน่วยงานที่รับผิดชอบภารกิจนี้ก็คือ กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ (ไอซีที) ซึ่งประสานงานร่วมกับภาคเอกชน

ทุกวันนี้ สมรภูมิตลาดหุ่นยนต์แยกเป็น 2 กลุ่ม

หุ่นยนต์ทางการทหารและอุตสาหกรรม มีสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าตลาด

หุ่นยนต์เพื่อความบันเทิง มีญี่ปุ่นครอบครองไว้เบ็ดเสร็จ

เมื่อสถานการณ์ออกมาในรูปนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้จึงพยายามสร้าง "เกม" หรือ จุดเด่นของตนเองขึ้นมา

เพื่อฉีกตัวออกจากมหาอำนาจหุ่นยนต์ทั้งสองกลุ่ม

นั่นคือ ซุ่มพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ให้คำจำกัดความว่า "เน็ตเวิร์ก โรบ็อต" (เครือข่ายหุ่นยนต์)

วัตถุประสงค์ของหุ่นยนต์กลุ่มนี้ ได้แก่ การทำหน้าที่เป็น "ผู้ให้บริการ" แก่มนุษย์ในด้านต่างๆ

เช่น เป็นหุ่นสอนหนังสือ หุ่นประชาสัมพันธ์ หุ่นทำความสะอาด หุ่นนำเที่ยว ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ลักษณะของหุ่นยนต์เหล่านี้จะไม่ได้ทำงานเป็นเอกเทศ หรือทำงานอยู่เพียงตัวเดียวลำพัง

แต่ต้องมีความสามารถในการประสานการทำงานร่วมกันและมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ได้ โดยมีคอมพิวเตอร์และเครือข่ายอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ทำหน้าที่ควบคุมหุ่นยนต์ทั้งหมด

ล่าสุด กระทรวงไอซีทีเกาหลีใต้ กำหนดให้แผนเทคโนโลยีหุ่นยนต์ประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งชาติ รับผิดชอบ "โครงการหุ่นยนต์บริการอัจฉริยะ" ดึงบริษัทเอกชนกว่า 30 แห่งและนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัย รวมถึงมหาวิทยาลัยอีกนับพันคน มาช่วยกันสานฝันพัฒนาทั้ง "ฮาร์ดแวร์" และ "ซอฟต์แวร์" เพื่อให้โครงการกลายเป็นจริง

ภายในปีพ.ศ.2563 รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าว่า บ้านทุกหลังจะต้องมี "หุ่นยนต์บริการ" ทำงานอยู่อย่างน้อยๆ 1 ตัว

นายโอ ซาง รอก หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กับอินเตอร์เน็ตได้พลิกโฉมหน้าศตวรรษที่ 20

ส่วนในศตวรรษที่ 21 หุ่นยนต์บริการที่มีจุดกำเนิดจากเกาหลีใต้ก็อาจปฏิบัติรูปแบบการดำเนินชีวิตครั้งใหญ่ของโลกเช่นกัน!

"ข้าวโพดจีเอ็มโอ" ผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล

หลายปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) ซึ่งพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ "พืชจีเอ็มโอ" ต้องเผชิญกระแสต่อต้านอย่างหนัก

จากทั้งฝ่ายกลุ่มผู้คุ้มครองผู้บริโภค นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และตัวผู้บริโภคเอง

ประเด็นหลักของการต่อต้าน เพราะไม่มั่นใจว่าหน่วยพันธุกรรมต่างๆ ที่ตัดต่อเข้าไปในพืช เช่น ข้าวโพด

จะปลอดภัยต่อสุขภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่ทำลายสายพันธุ์พืชตามธรรมชาติ เหมือนกับที่บริษัทไบโอเทคประชาสัมพันธ์

เมื่อสถานการณ์ออกมารูปนี้ บ.ไบโอเทคใหญ่ๆ จึงจำเป็นต้อง "ดิ้น" หากลยุทธ์เปิดตลาดช่องทางใหม่

นั่นคือ พัฒนาพืชจีเอ็มโอที่มีคุณสมบัติสูงต่อการนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงพลังงานทางเลือกประเภท "เอทานอล"

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเอทานอลที่มูลนิธิสถาบันพลังงาน ระบุไว้ก็คือ สามารถผลิตได้จากวัตถุดิบหลายชนิด

ชนิดที่ง่ายที่สุด ได้แก่ น้ำตาลหรือกากน้ำตาลจากอ้อย หัวบีทรูทหรือพืชที่ให้ความหวานอื่นๆ ซึ่งนำเข้าสู่กระบวนการหมักได้เลย

ส่วนพืชแป้งเช่นข้าวโพด ข้าว มันสำปะหลัง มันฝรั่ง มันเทศ ต้องนำมาบดแล้ว "หมัก" ให้แป้งกลายเป็นน้ำตาลเสียก่อน

นอกจากนั้น ยังสามารถนำเศษขี้เลื่อย เศษไม้ ฟางข้าว ผักตบชวา หญ้าแฝกหรือเยื่อใยจากพืชอื่นๆ มาผ่านกระบวนการย่อยสลายด้วยกรดหรือบัคเตรีให้กลายเป็นน้ำตาลเพื่อหมักเป็นเอทานอลได้เช่นกัน

แต่ทุกกระบวนการผลิตจะต้องลงท้ายด้วยการหมักด้วยส่าหรือยีสต์เสมอ จากนั้นถึงนำไปกลั่นเพื่อแยกเอาเอทานอลออกมาจากส่วนผสมและนำไปผ่านกระบวนการแยกน้ำให้กลายเป็นเอทานอล 99.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำมาใช้งานในรูปแบบน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป

ล่าสุด บริษัทซินเจนตาของสหรัฐตัดสินใจเลือกเอา "ข้าวโพด" มาตัดต่อดัดแปลงพันธุกรรมให้มี "เอนไซม์" ชนิดพิเศษ ช่วยให้ข้าวโพดย่อยสลายหมักตัวเองกลายเป็นเอทานอลง่ายขึ้น โดยไม่ต้องรอการนำข้าวโพดไปผสมกับเอนไซม์ตัวนี้ในกระบวนการปกติ

สำหรับเทคนิควิธีการสร้าง "ข้าวโพดเอทานอล" ดังกล่าวยังเป็นความลับ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลมากนัก และเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้วว่า เป็นแนวคิดที่ไม่เหมาะสม

เนื่องจากไม่ควรนำ "พืชเพื่อการบริโภค" ไปผลิตเชื้อเพลิงป้อนพาหนะฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล

ปัญหาใหญ่ของบ.ไบโอเทควันนี้ คือ คนไม่เชื่อใจในข้อมูลและวิธีการผลิตไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะขยับเหลี่ยมไหนจึงโดนต้านไปหมด!