Tuesday, March 20, 2007

"ยูบิโกะ" หุ่นยนต์เตือนไฟไหม้

เป้าหมายสำคัญในการผลิต-พัฒนา "หุ่นยนต์" ก็คือ ทำให้จักรกลไร้ชีวิตเหล่านี้ เข้ามารับใช้สังคมมนุษย์ในงาน หรือ กิจกรรมต่างๆ ให้ได้มากที่สุด

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะนักวิจัยญี่ปุ่นจากหลายองค์กร ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยกิวชู สถาบันเทคโนโลยีคานาซาวะ และบริษัททัมซัก ได้ร่วมกันจัดแถลงข่าวความสำเร็จขั้นแรกของการพัฒนาหุ่นยนต์ป้องกันเหตุเพลิงไหม้ รุ่น "ยูบิโกะ"

เดิมทีบ.ทัมซัก ตั้งใจสร้าง "ยูบิโกะ" ขึ้นมาเพื่อใช้ในงานต้อนรับ-ประชาสัมพันธ์

แต่เมื่อมามองดูศักยภาพแล้วเห็นว่า สามารถต่อยอดนำไปใช้งานที่สลับซับซ้อนยิ่งกว่านั้น จึงร่วมมือกับทั้งสองสถาบัน เพื่อดัดแปลงให้มันทำงานที่มีประโยชน์มากขึ้น

ผลลัพธ์ที่ได้ก็ออกมาเป็น "ยูบิโกะ" ดังที่เห็นในภาพ

หุ่น "ยูบิโกะ" สูง 112 เซนติเมตร หนัก 60 กิโลกรัม เคลื่อนที่ได้ด้วยล้อเลื่อน ได้รับการติดต้องกล้องวิดีโอและเซ็นเซอร์ตรวจจับ "กลิ่นไหม้" ที่อาจเป็นต้นเหตุของเพลิงไหม้ เช่น กลิ่นบุหรี่ กลิ่มวัตถุเผาไหม้ ฯลฯ

แผนกรักษาความปลอดภัยตามอาคาร รวมทั้งสำนักงานต่างๆ สามารถสั่งงานให้ "ยูบิโกะ" ลาดตระเวนตรวจตราไปตามห้องแต่ละห้องว่ามีกลิ่นผิดปกติที่อาจเป็นชนวนเหตุไฟไหม้ได้หรือไม่

ถ้าเซ็นเซอร์จับกลิ่นไหม้ได้ก็จะส่งสัญญาณผ่านเครื่อข่ายสื่อสารไร้สาย แจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยทราบ เพื่อมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง

ผลการทดลองเบื้องต้นพบว่า เซ็นเซอร์ของ "ยูบิโกะ" แยกแยะออกว่าห้องไหนมีกลิ่นบุหรี่ และห้องไหนไม่มี

แต่ยังไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงเอาไว้ด้วย

เนื่องจากต้องพัฒนากันต่อไปอีกระยะหนึ่ง ไม่เช่นนั้น ถ้าเกิดมีคนสูบบุหรีหรือมีกลิ่นบุหรี่ติดตัวเดินมาใกล้ๆ ก็อาจถูกเจ้าหุ่นรุ่นนี้ฉีดน้ำยาดับเพลิงใส่เอาได้ง่ายๆ!

อุตสาหกรรมไฮเทค ไม่ปลอดภัยอย่างที่คิด!

ในอนาคตความขัดแย้งระหว่าง "ชุมชน" กับ "อุตสาหกรรม" ต่างๆ ที่เข้าไปตั้งโรงงานในพื้นที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ครับ เหมือนที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวบ้านในแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยา อ่างทอง-อยุธยา ที่ต้องเผชิญสภาพปลาตายเป็นเบืออยู่ขณะนี้

ที่ผ่านมากลุ่มอุตสาหกรรมจะชูประเด็นว่า การเปิดโรงงานช่วยชุมชนด้านการจ้างงาน ซึ่งก็จริง

แต่พอเวลาผ่านไป ถ้าโรงงานนั้นๆ หาช่องหลีกเลี่ยงทำผิดมาตรฐานความปลอดภัย มลพิษที่หลุดลอดออกสู่สภาพแวดล้อมจะค่อยๆ สะสมและหวนกลับมาทำร้ายชุมชนอย่างรุนแรงทบเท่าทวีคูณ!

เมื่อปลายเดือนก.พ. กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม "กรีนพีซ" เพิ่งเปิดเผยรายงานฉบับใหม่เกี่ยวกับมลพิษจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

เนื้อหารายงานฉบับนี้ตรวจสอบ-ตีแผ่ให้เห็นว่า "อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์-อุตสาหกรรมไฮเทค" แม้ภาพพจน์ต่อสังคมภายนอกจะดูดี ไม่มีพิษภัยต่อสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น

ในส่วนของประเทศไทย กรีนพีซระบุว่า จากการวิเคราะห์ตัวอย่างที่เก็บจาก "โรงงานผลิตแผงวงจรพิมพ์" 4 แห่ง แถบปทุมธานี นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค และสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบข้อมูลน่าวิตก ว่า

มีการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายจำนวนมากในน้ำเสียจากโรงงานเหล่านี้ ซึ่งท้ายสุดก็ไปจบลงที่แม่น้ำลำคลอง!

สำหรับโรงงานแถบปทุมธานี พบการปนเปื้อนทองแดงในปริมาณสูงสุด เมื่อเทียบจากตัวอย่างที่เก็บจากแหล่งอื่น

ขณะที่ตัวอย่างน้ำใต้ดินที่เก็บจากบริเวณใกล้นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค พบว่ามีปริมาณการปนเปื้อนของนิกเกิลสูงกว่าค่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และสูงกว่าค่ามาตรฐานของคุณภาพน้ำใต้ดินของไทยเกือบ 5 เท่า

การวิจัยของกรีนพีซยังครอบคลุมถึงการปนเปื้อนแหล่งน้ำใต้ดินหลายแห่ง โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้แหล่งผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งพบว่ามีการปนเปื้อนสารอินทรีย์ระเหยประเภทคลอรีน (VOCs) และโลหะเป็นพิษหลายชนิด

การปนเปื้อนสารเคมีในน้ำใต้ดินเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะชุมชนในพื้นที่หลายพื้นที่ใช้น้ำใต้ดินสำหรับทำน้ำดื่ม!

ไม่แน่ใจว่ารัฐบาลไทยจะสนใจรับฟังปัญหาเหล่านี้บ้างหรือไม่ครับ!?!

(19 มีนาคม 2550)

Wednesday, March 14, 2007

"อะโดบี้"คิดโปรแกรม จับผิด"ภาพตัดต่อ"อัตโนมัติ

การตัดต่อ ดัดแปลง แก้ไข "ภาพถ่าย" นั่นทำกันมานานแล้ว

แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน ปัญหา "ภาพตัดต่อ" ดังกล่าวต้องถือว่าจัดอยู่ในขั้นรุนแรงทบเท่าทวี

เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิตอล บวกกับความสามารถของโปรแกรมแต่งภาพยอดฮิตอย่าง "โฟโตช็อป" ได้ทำให้การตัดต่อภาพกลายเป็นเรื่องหมูๆ

แม้แต่ช่างภาพของสำนักข่าวต่างประเทศชั้นนำ "รอยเตอร์" หลายต่อหลายคน ก็ละทิ้งจรรยาบรรณ ใช้คอมพิวเตอร์ปลอมแปลงภาพถ่ายของตนเองแบบดื้อๆ

เพียงเพราะอยากรูปของตนมีความเร้าใจ ตื่นเต้น กว่าเหตุการณ์จริง

โดยกรณีที่สร้างความเสื่อมเสียให้รอยเตอร์มากที่สุด คือ การที่นายอัดนัน ฮัจจ์ ตากล้องซึ่งเข้าไปเก็บภาพบันทึกเหตุกองทัพอิสราเอลทิ้งบอมบ์ถล่มประเทศเลบานอน เมื่อปีก่อน

แต่พอถ่ายออกมาแล้วเห็นว่ากลุ่มควันดูไม่ร้ายแรงพอ นายอัดนันจึงใช้คำสั่ง "Clone Stamp" ในโฟโต้ช็อป ก๊อปปี้ตัดต่อนำภาพกลุ่มควันสีดำมาใส่เพิ่มเติมอีกกลุ่มหนึ่ง

ล่าสุด ทั้งทางรอยเตอร์และบริษัทอะโดบี้ ผู้คิดค้นโฟโตช็อป จึงร่วมมือกันพัฒนาโปรแกรมตัวใหม่

ซึ่งช่วยให้คอมพิวเตอร์แยกแยะออกมาได้ว่าสิ่งที่เห็นอยู่ในภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอลต่างๆ นั้น เป็นภาพที่เกิดจากการตัดต่อหรือไม่?

รายละเอียดเบื้องลึกเบื้องหลังของโปรแกรมจับผิดภาพตัดต่อนี้ยังไม่มีการเปิดเผย

แต่มีข่าวกระเส็นกระสายเล็กๆ น้อยๆ หลุดมาตามสื่อมวลชนอเมริกันบางสำนัก ว่า

โปรแกรมดังกล่าวของอะโดบี้จะใช้ธีตรวจวิเคราะห์ "พิกเซล" หรือจุดสีต่างๆ ที่รวมตัวกันขึ้นมาจนเป็นภาพๆ หนึ่ง

นอกจากนั้น ยังจะใช้วิธีสแกนภาพเพื่อดูว่าผ่านการแต่งด้วยคำสั่ง "Clone Stamp" รวมถึงคำสั่งอื่นๆ มาหรือไม่

แล้วก็อาจจะพัฒนาโปรแกรมไปให้ไกลถึงขั้นที่สามารถแยกแยะได้ว่า ภาพต่างๆ ถ่ายมาจากกล้องดิจิตอลยี่ห้ออะไร

ทุกวันนี้คงอาศัยแต่ "ตา" คอยจับผิดดูอย่างเดียวคงไม่ไหวครับ เพราะเทคนิคการตัดต่อภาพนั้นยอมรับว่า "เนียน" จริงๆ โดยเฉพาะภาพจำพวกนำหน้าดาราไปปะเข้ากับตัวนางแบบเรตเอ็กซ์ทั้งหลาย!

ป้องกันตัวจากภัย กลุ่มควันปกคลุมภาคเหนือ

ขณะนี้พี่น้องในหลายจังหวัดทางภาคเหนือ โดยเฉพาะในเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง กำลังประสบภัยจากกลุ่มควันพิษที่สะสมอยู่ในอากาศมากน้อยแตกต่างกันไป

สาเหตุหลักมาจากควันที่เกิดจากการเผาวัชพืช กับ ไฟป่า

ประกอบกับช่วงนี้อากาศแห้ง ลมสงบ ทำให้กลุ่มหมอกควันกับมลพิษที่มีอยู่แล้วในอากาศจับตัวกันอยู่อย่างนั้น ไม่สลายไปไหน

ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ กรมควบคุมมลพิษปรับระดับอันตรายของคุณภาพอากาศในเชียงใหม่ขึ้นเป็น "สีเหลือง"

หมายความว่า ในอากาศที่หายใจเข้าไปมีระดับฝุ่นขนาดเล็ก ซึ่งส่งผลกระทบ-เป็นอันตรายต่อสุขภาพเกินค่ามาตรฐานแล้ว!

ขณะที่ "ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง" ได้ช่วยบรรเทาสถานการณ์ด้วยการทำฝนหลวงในเขตแม่ฮ่องสอนกับเชียงใหม่ เพื่อช่วยชะล้างละอองฝุ่นมลพิษต่างๆ

ด้วยความเป็นห่วงจึงขอนำข้อมูลการป้องกันตัวเองจากหมอกควันพิษ มาเขียนทบทวนให้พี่น้องทางเหนือรับทราบกันอีกครั้ง

สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งเด็กและผู้สูงอายุต้องระวังตัวเป็นพิเศษ

เนื่องจากอนุภาคฝุ่นขนาดจิ๋วที่ปนเปื้อนในอากาศ สามารถแทรกซึมเข้าสู่ร่างกายและทำอันตรายต่อเนื้อเยื่อส่วนต่างๆ ได้

ส่งผลให้ป่วยง่ายกว่าคนทั่วไปที่มีสุขภาพแข็งแรง!

ช่วงนี้ ท่านที่รู้ตัวอาจล้มป่วยเพราะผลจากหมอกควันได้ง่าย ก็ควรสวมหน้ากากกรองอากาศ

ถ้ากิจวัตรประจำวันเป็นคนชอบออกกำลังกาย ขอให้งดไปก่อนในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายในที่แจ้ง

เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายรับฝุ่นละอองเข้าไปมากกว่าปกติ

ถ้ารู้สึกว่ามีอาการแปลกๆ เช่น หายใจไม่ค่อยออก ไอเรื้อรัง เจ็บหน้าอก ไปจนถึงเกิดอาการหอบหืดกำเริบให้ไปพบแพทย์ทันที อย่าดื้อดึงปล่อยไว้ และไม่ควรหาซื้อยามากินเอง

หวังอย่างยิ่งว่า ความทุกข์ของชาวเหนือครั้งนี้เมื่อผ่านพ้นไปแล้ว

จะเป็นบทเรียนให้ทางการนำไปใช้วางแผนป้องกันภัยแบบเดียวกันไม่ให้เกิดซ้ำซากในวันข้างหน้าครับ!

(14 มีนาคม 2550)

Wednesday, March 07, 2007

บ้านคนบนดวงจันทร์

วันนี้จะพาท่านผู้อ่านหนีสภาวะการณ์ร้อนๆ บนโลกเรา

อพยพขึ้นไปอยู่เที่ยวเล่นอยู่บน "ดวงจันทร์" ด้วยกัน

เวลามองดวงจันทร์ทุกวันนี้ คนบางกลุ่มไม่ได้จินตนาการถึงภาพกระต่ายตำข้าว หรือ เทพเจ้าองค์ใดๆ อีกแล้ว

มองไปมองมาก็คิดได้ว่า นี่มันแหล่งเงินทั้งนั้น!

สาเหตุเพราะบนดวงจันทร์มีแร่ธาตุ-ทรัพยากรหลายอย่าง ที่นำมาใช้ประโยชน์บนโลกได้

ย้อนกลับไป 4-5 ปีก่อน คุณแฮร์ริสัน ชมิตต์ อดีตมนุษย์อวกาศอเมริกันที่นั่งยานอวกาศ "อพอลโล 17" ไปเหยียบดวงจันทร์เมื่อปีพ.ศ. 2515 เคยพยากรณ์ด้วยความมั่นใจ ว่า

ภายในเวลา 40-50 ปีจากนี้ จะมีชาวโลก (หมายถึงอุตสาหกรรมพลังงาน) ร่วมกันลงขันหาเงินขึ้นไปทำเหมืองขุดเจาะธาตุ "ฮีเลียม-3" ที่มีอยู่มหาศาลบนดวงจันทร์ มาใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์

ด้วยเหตุนี้จึงมี "มหาอำนาจอวกาศ" หลายชาติ เล็งส่งคนของตนขึ้นไปปักหลักทำแผนที่และจับจองพื้นที่ดวงจันทร์ก่อนใคร

ล่าสุด สำนักงานอวกาศสหรัฐอเมริกา (นาซ่า) กำลังเดินหน้าพัฒนา "โครงการสร้างที่พักอาศัยบนดวงจันทร์" แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าในระยะเริ่มต้นนี้ไม่ได้มีหน้าตาเป็นบ้าน-อาคารใหญ่โตเหมือนในภาพยนตร์ไซ-ไฟ

เพราะเป็นแค่ "แคปซูล" ชนิดพิเศษขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 เมตร เมื่อติดตั้งยึดกับพื้นดวงจันทร์แล้ว สามารถพองตัวขึ้นมามีรูปร่างเหมือนเต๊นท์หลังคาสูงๆ มีพื้นที่ให้มนุษย์เข้าไปอาศัยอยู่ได้ไม่กี่คน

นาซ่าประเมินว่า อย่างน้อยที่สุดต้องรออีก 13 ปีถึงจะส่งแคปซูลดังกล่าวไปใช้งานบนดวงจันทร์ เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์วิจัยขนาดเล็กสำหรับมนุษย์อวกาศต่อไป

นี่ถ้าอนาคตดวงจันทร์ถูกขุดเจาะจนพรุนจริงๆ ก็ไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะส่งผลกระทบร้ายแรงมาถึงโลกหรือไม่

ในฐานะเป็นดาวสองดวงที่มีแรงดึงดูดต่อกันและกัน!?!