Tuesday, May 15, 2007

พ.ร.บ.ความผิดคอมพ์ ยิ่งโหด-คนยิ่งดิ้นหนี??

การพิจารณาร่างกฎหมาย "พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ..." วาระที่ 3 ผ่านความเห็นของสภายุคขิงแก่ หรือ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ส.น.ช.) ไปเรียบร้อย

ขั้นตอนต่อไปอยู่ระหว่างการรอผลบังคับใช้ หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน

พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับนี้ (ขอเรียกสั้นๆ นะครับ) แก้ไขมาจากพ.ร.บ.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์เดิม เพราะมองว่าอาชญากรรมอินเตอร์เน็ตและเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้พัฒนาล้ำหน้าเกินกฎหมายเก่าๆ ของบ้านเราไปมาก

สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยหยิบยกเรื่องการออกพ.ร.บ.คอมพ์ มาพูดถึง

เวลาไหลผ่านสู่ยุคขิงแก่ ในที่สุดกระทรวงไอซีทีก็ผลักดันให้ผ่านสภาส.น.ช. สำเร็จ ท่ามกลางเสียงคัดค้านและเสียงสนับสนุน

ฝ่ายค้านมองว่า ในอนาคต พ.ร.บ.คอมพ์มีแนวโน้มสูงที่จะผ่าเหล่ากลายเป็น "ดาบ" ที่รัฐนำไปใช้ฟันแหลก-จำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงความเห็น (ทางการเมือง) ของประชาชน และยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่เล่นงานไอเอสพีกับเจ้าของเว็บไซต์ได้ครอบจักรวาล

แต่ฝ่ายหนุนเห็นว่า งานนี้ปมการเมืองไม่เกี่ยว เพราะมุ่งรักษาประโยชน์ของผู้ใช้โลกออนไลน์ให้พ้นจากเงื้อมมืออาชญากรอินเตอร์เน็ต/แฮกเกอร์มากกว่า

ประเด็นหลักในพ.ร.บ.คอมพ์ เขียนชัดว่า การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ "เป็นความผิดยอมความกันไม่ได้!"

ต่อไปถ้ากฎหมายบังคับใช้ขึ้นมาจริงๆ คนทำผิด ไม่ว่าผิดจริงหรือเป็น "แพะ" ก็ต้องรับโทษอาญาสถานเดียว พร้อมกับยกเลิก "โทษขั้นต่ำ" ส่วนจะติดคุกหรือรับโทษปรับมากหรือน้อยกว่า "โทษสูงสุด" นั้นยกให้ศาลท่านตัดสินไปตามความเหมาะสม

ขอยกตัวอย่างเฉพาะโทษจำคุกสูงสุดตามที่พ.ร.บ.คอมพ์ กำหนดไว้ เผื่อจะได้ระวังตัวกันล่วงหน้า

ถ้าไปใช้คอมพ์ทำความผิดในคดีความมั่นคงต่างๆ มีโทษจำคุก 10-20 ปี, ถ้าแพร่เนื้อหาไม่เหมาะสม เช่น สื่อลามก จำคุก 5 ปี, ถ้ามีความผิดคดีตัดต่อภาพ ติดคุก 3 ปี, เจาะระบบเครือข่ายผู้อื่น คุก 2 ปี, พวกชอบส่ง "อีเมล์ขยะ" ไปให้ผู้อื่นขอให้ทราบด้วยว่า มีโทษปรับ 100,000 บาท ส่วนคนที่ริไปใช้คอมพิวเตอร์คนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตก็รับไปเบาะๆ คุก 6 เดือน

ตัวผมเองเชื่อว่า พ.ร.บ.คอมพ์ฉบับนี้ก็เหมือนกับกฎหมายอื่นๆ ซึ่งถ้าผู้ใช้ใช้ในทางที่ดี ที่ถูกต้อง คงไม่มีใครคัดค้าน

แต่ปรากฏการณ์ที่จะตามมาแน่ๆ หลังบังคับใช้ คือ คนจะยิ่งไปเรียนรู้วิธีใช้งานอินเตอร์เน็ตแบบไม่ให้รัฐตรวจจับได้มากขึ้นครับ!!

0 Comments:

Post a Comment

<< Home