Tuesday, February 27, 2007

เสพติดอินเตอร์เน็ต โรคใหม่"คนไฮเทค"

เข้าไปอ่านบล็อกข่าวเทคโนโลยีของคุณทอม ซิโมไนท์ นักข่าวประจำนิตยสารวิทยาศาสตร์ "นิว ไซทิสต์" แล้วเกิดอาการร้องหึ-หึ แบบนันสต๊อปในลำคอคล้ายๆ เวลาดูขำกลิ้งลิงกับหมา

แต่งานนี้ขอเปลี่ยนเป็น "ขำกลิ้งคนกับคอมพ์!"

คุณทอม บอกว่า สังคมยุคอินเตอร์เน็ตครอบโลกกำลังทำให้มนุษย์ดิจิตอล โดยเฉพาะมนุษย์ในสังคมเมืองที่ต้องนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทุกวันป่วยเป็นโรคในกลุ่ม "อี-แฮบบิทส์"

ตีความเป็นไทยได้ว่า โรคที่เกิดจากอุปนิสัยการใช้อินเตอร์เน็ตจนเกิดอาการเสพติด

เช่น ในแต่ละวันต้องเสียเวลานั่งเปิดอีเมล์ลูกโซ่

หรือนั่งไล่ดูคลิปวิดีโอไร้สาระตามเว็บไซต์ต่างๆ โดยหักห้ามใจให้หยุดพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้

"อี-แฮบบิทส์" แบบแย่ๆ ที่กำลังลุกลามไปในหลายสังคมทั่วโลกยังมีอีกหลายชนิด ที่พบเห็นบ่อยๆ ก็คือ

"Blog streaking" ใช้เรียกกลุ่มคน "ชอบโชว์" ชอบนำข้อมูลส่วนตัวไปเผยแพร่ตามบล็อก-เว็บสาธารณะ จนอาจเกิดอันตราย

"Egosurfing" คนที่มักบอกตัวเองว่า "ก็แค่เปิดดูแป๊ปเดียวเอง!" แต่ความจริงนั่งเล่นโลกอินเตอร์เน็ตเป็นชั่วโมงๆ ต่อวัน

"Crackberry" เป็นชื่อเรียกรวมๆ ถึงพฤติกรรมของพวกผู้บริหารที่วิตกจริตต้องเช็กมือถือ-พีดีเอโฟน-อีเมล์ตลอดเวลา เพราะกลัวตกข่าว

"You Tube narcissism" พวกหลงตัวเองชอบนำคลิปไฟล์วิดีโอส่วนตัวไปโพสต์โชว์ให้คนทั้งโลกดู

"Wikipediholism" กลุ่มนี้จะเป็นพวกเสพติดต้องเข้าไปคอยเสริม-เพิ่มข้อมูลใหม่ๆ ในเว็บสารานุกรมออนไลน์เสรีดังๆ เช่นเว็บ "วิกิพีเดีย" จนวันๆ ไม่เป็นทำงานทำการอะไร

"Cyberchondria" ชอบเข้าไปหาข้อมูลการแพทย์ในเว็บแล้วก็นึกเป็นตุเป็นตะว่าอาการของตัวเองคล้ายกับโรคชนิดที่อ่านพบ

นี่ยังไม่นับโรคเสพติด "เว็บลามก" ที่กลายเป็นมาตรฐานทั่วไปของนักเล่นเน็ตไปแล้ว ณ วันนี้!

อเมริกันท้าพิสูจน์ "แสงจันทร์"รักษาโรค

อุปกรณ์ขนาดใหญ่ยักษ์ในภาพนี้ ทางผู้สร้างโฆษณาว่ามีเพียงชิ้นเดียวในโลก

นั่นก็คือ "จานสะท้อนแสงจันทร์" ขนาดความสูง 50 ฟุต หนัก 30 กว่าตัน ที่เรียกว่า

"Instellar Light Collector"

จานสะท้อนแสงจันทร์ เป็นสิ่งประดิษฐ์มูลค่า 80 ล้านบาท

ตั้งอยู่ในทะเลทรายโซโนแรน รัฐอาริโซนา สหรัฐอเมริกา

คุณริชาร์ด ชาพิน เศรษฐีอเมริกัน เจ้าของโครงการนี้ มีความเชื่อว่า

แสงจันทร์นวลผ่อง มีคุณสมบัติในการรักษาโรคต่างๆ ได้

เช่น โรคซึมเศร้า ไขข้ออักเสบ ไปจนถึงมะเร็งบางชนิด!?

เพื่อพิสูจน์ความเชื่อของตัวเอง ชาพินจึงทุ่มทุนสร้างจานสะท้อนแสงจันทร์

ซึ่งประกอบขึ้นเป็นรูปเป็นร่างด้วยกระจก 84 ชิ้น

แต่ละชิ้น สามารถหมุนได้ 360 องศา เพื่อรับและสะท้อนแสงจันทร์ไปยังจุดที่ต้องการให้ได้มากที่สุด

และไม่น่าเชื่อว่าในแต่ละคืนจะมีผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ มาขอรับบริการ " แสงจันทร์บำบัด" ด้วยการ "นอนอาบแสงจันทร์" ที่สะท้อนจากจาน Instellar Light Collector ของชาพินแบบไม่ขาดสาย!

ล่าสุด ชาพินติดต่อขอให้นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐมาทดสอบและทำลองเก็บข้อมูลระยะยาวดูว่า

แสงจันทร์จะมีอำนาจรักษาโรคได้จริงหรือไม่?

ยังไงอย่าหลงชวน "มนุษย์หมาป่า" มาร่วมทดลองด้วยก็แล้วกัน ไม่งั้นอาจวิ่งป่าราบหนีแทบไม่ทัน!

Tuesday, February 13, 2007

ยิงรหัสเลเซอร์ ช่วยพิสูจน์รถหาย

วิธีพิสูจน์ "รถยนต์" ที่สูญหายไป หรือ ถูกโจรผ่าแยกส่วนไปขายนั้น เบื้องต้นก็ต้องดูที่หมายเลขเครื่อง กับ หมายเลขตัวถัง

ส่วนการดูป้ายทะเบียนคงไม่ต้องไปหวัง เพราะโดนถอดโยนทิ้งไปตั้งแต่แรกแล้ว

แต่หมายเลขเครื่อง กับ ตัวถัง ถึงที่สุดแล้วถ้าโจรมีเวลาพอมันก็ขูดลบออกไปได้อยู่ดี

ขณะนี้ที่ประเทศออสเตรเลีย จึงมีบริษัทน้องใหม่ "ดาต้าดอท เทคโนโลยี" เปิดขึ้นมา เพื่อรับมือกับปัญหานี้โดยเฉพาะ

สก็อตต์ แม็คคีฟเวอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโปรแกรมดาต้าดอทฯ โฆษณาว่า เทคโนโลยีใหม่ของบริษัท คือ การใช้ "แสงเลเซอร์" ยิงหมายเลข หรือ รหัสลงไปบนตัวถังและเครื่องยนต์ของรถยนต์ทั้งพื้นผิวภายในและภายนอก

ตามปกติ รถแต่ละคันจะมีรหัสตัวถังกับเครื่องยนต์เพียง 1 จุดเท่านั้น

แต่เลเซอร์ของดาต้าดอทฯ สามารถสร้างเลขรหัสดังกล่าวได้สูงสุดถึง 5,000 จุด ฝังอยู่กับอะไหล่แทบทุกชิ้นของรถ

ที่สำคัญ หมายเลขที่ยิงด้วยเลเซอร์นั้นมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น

แต่ตำรวจสามารถส่องมองเห็นได้ด้วยกล้องที่มีกำลังขยายภาพ 50 เท่า

หมายความว่า ฝ่ายขุนโจรไม่มีทางทำลาย-กำจัดเลขรหัสประจำตัวรถได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน

แม็คคีฟเวอร์ บอกว่า ก่อนนำมาให้บริการนั้น ระบบเลเซอร์ดาต้าดอทฯ ได้ผ่านการทดลองประสิทธิภาพ 3 ปีโดยสำนักงานลดอัตราการโจรกรรมรถยนต์แห่งชาติของออสเตรเลีย ผลพบว่า ช่วยให้ตำรวจติดตามตรวจสอบรถที่ถูกจารกรรมมาคืนเจ้าของได้อย่างถูกต้องประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์

สนนราคาค่าบริการยิงเลเซอร์แบบมาตรฐาน 1,000 จุดต่อรถ 1 คันอยู่ที่ 18,000 บาท พร้อมวงเงินประกันรถหาย 180,000 บาท

ปัจจุบัน ดาต้าดอทฯ เข้าไปเปิดตลาดเพิ่มในสหรัฐอเมริกาและถ้าเสียงตอบรับดีจะเปิดสาขาในประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้นครับ

โปรแกรมเข้ารหัสลับ เปิดปิดคอมพ์ด้วย"ใบหน้า"

การใช้งาน "คอมพิวเตอร์ส่วนรวม-คอมพิวเตอร์บริษัท" มีความเสี่ยงที่ข้อมูลที่เราเก็บไว้ในฮาร์ดดิสก์ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว อาจตกไปถึงมือบุคคลอื่น

ไม่นานมานี้ มีรุ่นน้องวัย 20 กว่าๆ ที่ทำงานเป็นลูกจ้างของนิตยสารฉบับหนึ่ง

ปรากฎว่าอยู่มาวันหนึ่งเผลอออกไปทำธุระและลืมปิดโปรแกรมแชทยอดฮิต "เอ็มเอสเอ็น"

ฝ่ายนายจ้างที่ไม่ถูกชะตากันอยู่แล้วจึงสบช่องย่องไปนั่งเปิดอ่านดูไฟล์ History ที่โปรแกรมเอ็มเอสเอ็นจะเก็บไว้โดยอัตโนมัติ

เท่านั้นแหละครับ คุณเจ้านายถึงกับโมโหเลือดขึ้นหน้า เพราะไปอ่านเจอข้อมูลที่น้องคนนี้เขียนนินทาเต็มไปหมด

พอกลับเข้ามาสำนักงาน เจ้านายก็พิมพ์ข้อความดังกล่าวออกมา พร้อมกับแนบซองขาวให้ลาออกไปแต่โดยดี!

วิธีการเบื้องต้นในการป้องกันไม่ให้คนอื่นแอบมาเปิดดูข้อมูลคอมพิวเตอร์ของเราแบบง่ายๆ เช่น ตั้งเวลาและตั้งรหัสลับ (พาสเวิร์ด) เปิดปิดทั้งหน้าจอ โปรแกรมวินโดวส์ รวมถึงโฟลเดอร์ต่างๆ เอาไว้

สำหรับคอมพิวเตอร์ใหม่ๆ ในปัจจุบันบางรุ่นก็มีระบบเปิดใช้งานคอมพิวเตอร์ด้วยรหัสลายนิ้วมือ แต่เมืองไทยยังไม่ค่อยแพร่หลาย เพราะตัวเครื่องมีราคาแพง

ล่าสุด ที่ประเทศญี่ปุ่น บริษัทเอ็นอีซีซอฟท์ ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในเครือเอ็นอีซี ได้คิดค้นโปรแกรมเข้ารหัสด้วย "ใบหน้า" ของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ออกมาวางจำหน่าย ใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า "ไบโอดีล็อกออน"

เมื่อติดตั้งโปรแกรมเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้เพียงแค่เปิดกล้อง "เว็บแคม" เพื่อสั่งบันทึกภาพใบหน้าตัวเองลงไปในโปรแกรม

หลังจากนั้นครั้งต่อไปที่จะเปิดใช้งานวินโดวส์หรือเปิดใช้คอมพิวเตอร์ ระบบก็จะเรียกให้ผู้ใช้ต้องแสดง (เสนอ) หน้ามาให้กล้องและโปรแกรมตรวจสอบดูว่า ลักษณะของใบหน้าตรงกับผู้ใช้งานตัวจริงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ทางเอ็นอีซีซอฟท์เผยแพร่ต่อสื่อญี่ปุ่นไม่ได้อธิบายว่า ในกรณีที่นำ "ภาพถ่าย" ใบหน้าของผู้ใช้มาโชว์ให้กล้องดูแทนจะสามารถหลอกระบบ "ไบโอดีล็อกออน" ได้สำเร็จหรือไม่?

แต่เชื่อว่า ในหมู่ลูกน้องชาวญี่ปุ่นที่ชอบแชทนินทานาย หรือ เก็บไฟล์หนังแนววาบหวิวทั้งหลายไว้ในคอมพิวเตอร์บริษัท ก็น่าจะมีแนวโน้มทดลองซื้อโปรแกรมตัวนี้ไปใช้งานกันบ้างไม่มากก็น้อย!

"รถโดยสารอัจฉริยะ" ไร้คนขับ-เรียกด้วยมือถือ

มหานครใหญ่ๆ ทั่วโลกต่างก็ต้องเร่งคิดค้นระบบขนส่งมวลชนใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ รวมถึงความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย

ที่สำคัญที่สุด คือ พาหนะที่ใช้ต้องใช้ "พลังงานสะอาด" เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ยกตัวอย่างเช่น โครงการ "รถโดยสารสาธารณะอัจฉริยะ" สำหรับมหานครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในที่สุดก็ได้ "รถต้นแบบ" ออกมาแล้ว หลังจากบริษัทคาโปโค ดีไซน์ กับ วิทยาลัยรอยัลคอลเลจ ใช้เวลาร่วมกันคิดค้นอยู่หลายปี

รถโดยสารอัจฉริยะดังกล่าว รองรับผู้โดยสารได้ 24 ที่นั่ง

ติดตั้งเครื่องยนต์ไฮบริดจ์ผสมผสานระหว่างพลังงาน "ไฟฟ้า" กับ "เชื้อเพลิงชีวมวล"

รถรุ่นนี้ไม่ต้องมี "คนขับ" เพราะใช้ระบบนำร่อง-นำทางผ่านดาวเทียม ระบบคอมพิวเตอร์ และตัวเซ็นเซอร์ตรวจสอบสิ่งกีดขวาง คอยควบคุมการทำงาน-การขับเคลื่อนของรถทั้งหมด ไม่ว่าจะเรื่องของความเร็ว หรือจุดจอดรับส่งผู้โดยสาร

เทคโนโลยีที่ทำให้รถโดยสารอัจฉริยะรับรู้ข้อมูลของเส้นทางต่างๆ ได้ คือ "ชุดแม่เหล็ก" ที่ฝังติดอยู่กับถนน ซึ่งทำหน้าที่สื่อสารให้คอมพิวเตอร์เมนบอร์ดในรถรู้ว่ากำลังวิ่งไปในทิศทางใด

ขณะเดียวกัน "ผู้โดยสาร" ก็สามารถใช้ "โทรศัพท์มือถือ" เชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับศูนย์ให้บริการรถโดยสารอัจฉริยะ เพื่อสั่งให้รถมารับ-ส่ง ณ จุดที่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม จากการทดลองยังพบอุปสรรคสำคัญ เนื่องจากตัวเซ็นเซอร์ของรถแยกแยะลักษณะของสิ่งกีดขวางไม่ออกว่าสิ่งไหนต้องหลบแต่สิ่งไหนไม่ต้องหลบ เช่น กองเศษใบไม้ข้างทาง

นอกจากนั้น ตัวรถก็ยังขาดระบบรักษาความปลอดภัย-แจ้งเตือนภัย ทำให้ผู้โดยสารอาจตกเป็นเหยื่อโจรที่แฝงตัวขึ้นมาบนรถง่ายขึ้น

ปีหน้า รถอัจฉริยะรุ่นนี้จะถูกนำไปทดสอบในพื้นที่จำกัด เช่น วิ่งรับส่งคนในสนามบินฮีทโธรว

ถ้าผลลัพธ์ออกมาดีก็น่าจะผลิตออกวิ่งในลอนดอนได้จริงภายใน 3 ปี

"วินโดว์ วิสต้า" ของใหม่แต่ยังไม่จำเป็น

มีผู้ติดตามคอลัมน์ถามเข้ามาว่า จำเป็นหรือเปล่าที่จะต้องใช้โปรแกรมระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (โอเอส) ตัวใหม่ "วินโดว์ วิสต้า" ของไมโครซอฟท์

ผมเองยังไม่มีโอกาสใช้งาน

แต่จากการอ่านบทวิจารณ์ของผู้สื่อข่าวไอทีของสหรัฐอเมริกา (แบบเป็นกลางไม่ได้เขียนเชียร์นะครับ) ก็พอจะได้ข้อสรุปว่า

ยังไม่จำเป็น!

ปัญหาสำคัญของวิสต้าขณะนี้ คือ ไม่รองรับการใช้งานร่วมกับไดรเวอร์ของอุปกรณ์เสริมหลายตัว

ส่วนระบบรักษาความปลอดภัยถึงทางไมโครซอฟท์จะยืนยันว่า ไม่มีปัญหา

แต่ของแบบนี้ต้องรอการพิสูจน์สักระยะ

ที่สำคัญ เชื่อได้เลยว่าจากนี้ไปคงต้องมีการปรับปรุงแก้ไขวิสต้ากันอีกครั้ง

เพื่อให้โปรแกรมมีจุดอ่อนน้อยที่สุด

สรุปคือถ้าวินโดว์ หรือ โอเอสตัวเก่ายังใช้งานได้ดี ไม่มีอะไรจุกจิกกวนใจก็ใช้ต่อไปได้

ความจริงแล้ว วินโดว์รุ่นเก่าๆ ที่ใช้กันอยู่นั้น เช่น "เอ็กซ์พี"

บางครั้งเราไม่ได้ "รีด" ประโยชน์ของมันออกมาเต็มที่

ยกตัวอย่างเคล็ดลับการใช้โปรแกรมท่องอินเตอร์เน็ต "ไออี" ที่พ่วงมากับเอ็กซ์พีนั้น มีคำสั่งลบไฟล์ข้อมูลชั่วคราวภายหลังจากการท่องเว็บมาให้พร้อมอยู่แล้วเพียงแต่บางท่านอาจไม่ทราบ

วิธีการใช้คำสั่งดังกล่าว เริ่มจากเปิดโปรแกรมไออี จากนั้นคลิกเลือก tools>internet options กดที่แถบ advance ในหัวข้อ security ให้กดเลือกเครื่องหมายถูกที่หัวข้อ empty temporary internet files folder when browser is close

เพียงเท่านี้ ไฟล์ชั่วคราวที่ติดมากับการท่องเว็บก็จะถูกลบออกจากหน่วยความจำทันที

เหมาะสำหรับท่านที่ต้องเข้าไปทำธุรกรรมการเงิน หรือ สั่งซื้อของผ่านเว็บไซต์บ่อยๆ

บางครั้งแค่ไปหาซื้อหนังสือคู่มือเคล็ดลับใช้งานวินโดว์ รวมถึงโปรแกรมเสริมต่างๆ มาทดลองทำตามดูก็จะพบประสิทธิภาพใหม่ๆ ที่ซ่อนอยู่ในโปรแกรมเดิมๆ นั่นเองครับ

Monday, February 05, 2007

กระจกวิเศษ เปลี่ยน"สภาพ"ตามอากาศ


"กระจก" เป็นวัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงานได้ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ยามอากาศร้อน ถ้าเราใช้กระจกติดฟิลม์กรองแสง ก็จะช่วยลดปริมาณแสงกับความร้อนที่เข้ามาในตัวอาคาร จึงช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศไปในตัว

ที่ผ่านมา มีบางบริษัทพยายามคิดค้นกระจกชนิด "Switchable Mirror Glass" (กระจกปรับเปลี่ยนตัวเองได้ตามสภาพสิ่งแวดล้อม) แต่พอนำไปใช้งานจริง ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายไป

กระจกชนิดปรับเปลี่ยนตัวเองนั้นทำงานภายใต้หลักการที่ว่า เมื่ออากาศเย็นก็ปรับสภาพตัวเองให้กลายเป็นกระจกใส รับแดดเข้ามาเพิ่มความอบอุ่นภายในอาคาร ทำให้ไม่ต้องไปเร่งเครื่องทำความร้อน

แต่เมื่อเจอสภาพอากาศร้อนๆ ก็เปลี่ยนตัวเองเป็นเหมือนกับ "กระจกทึบ" ทำหน้าที่สะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป

ไม่กี่วันที่ผ่านมา คณะนักวิทยาศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมชั้นสูงของประเทศญี่ปุ่น (เอไอเอสที) เพิ่งเปิดตัวต้นแบบกระจกแบบปรับเปลี่ยนตัวเองได้แบบใหม่ล่าสุด

ต้นแบบ "Switchable Mirror Glass" ของเอไอเอสทีเป็นบานกระจกสองแผ่นประกบกัน วัดขนาดได้ 60x70 เซนติเมตร

ภายในเนื้อกระจกจะมีแผ่นฟิล์มบางเฉียบสุดๆ ในระดับนาโนเมตรติดอยู่ด้วย โดยเนื้อฟิล์มผลิตจากส่วนผสมของ "แม็กนีเซียม-ไทเทเนียม อัลลอย" กับ "แพเลเดียม"

วิธีการเปลี่ยนสถานะของกระจกนั้นไม่ต้องควบคุมด้วยไฟฟ้าเหมือน "Switchable Mirror Glass" แบบอื่นๆ แต่ใช้การปล่อย "ก๊าซ" แทน โดยเมื่อปล่อย "ไฮโดรเจน" เข้าไปในช่องว่างระหว่างกระจกทั้งสองแผ่นก็จะเกิดปฏิกิริยาทำให้มันกลายเป็นกระจกใส

แต่เมื่อปล่อย "ออกซิเจน" เข้าไปแทนที่จะแปรสภาพเป็นกระจกสะท้อนแสง เหมือนดังที่ท่านผู้อ่านเห็นในภาพประกอบ

คณะผู้พัฒนากระจกเผยว่าวัสดุที่นำมาผลิตเป็นกระจกรุ่นนี้มีต้นทุน-ราคาต่ำกว่าวัสดุชนิดอื่นๆ ที่เคยนำมาผลิตกระจกประเภทเดียวกัน และเมื่อพัฒนาเสร็จสมบูรณ์น่าจะนำไปใช้ติดตั้งกับอาคาร บ้าน รวมถึงรถยนต์ได้ทั้งนั้น

ถ้าทำได้ดีจริงและราคาขายพอเหมาะเหมือนที่แถลงข่าวก็คงจะพอเรียกได้ว่าเป็น "กระจกวิเศษ" ทีเดียวนะครับนั่น