กระจกวิเศษ เปลี่ยน"สภาพ"ตามอากาศ
"กระจก" เป็นวัสดุที่ช่วยประหยัดพลังงานได้ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ยามอากาศร้อน ถ้าเราใช้กระจกติดฟิลม์กรองแสง ก็จะช่วยลดปริมาณแสงกับความร้อนที่เข้ามาในตัวอาคาร จึงช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศไปในตัว
ที่ผ่านมา มีบางบริษัทพยายามคิดค้นกระจกชนิด "Switchable Mirror Glass" (กระจกปรับเปลี่ยนตัวเองได้ตามสภาพสิ่งแวดล้อม) แต่พอนำไปใช้งานจริง ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายไป
กระจกชนิดปรับเปลี่ยนตัวเองนั้นทำงานภายใต้หลักการที่ว่า เมื่ออากาศเย็นก็ปรับสภาพตัวเองให้กลายเป็นกระจกใส รับแดดเข้ามาเพิ่มความอบอุ่นภายในอาคาร ทำให้ไม่ต้องไปเร่งเครื่องทำความร้อน
แต่เมื่อเจอสภาพอากาศร้อนๆ ก็เปลี่ยนตัวเองเป็นเหมือนกับ "กระจกทึบ" ทำหน้าที่สะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป
ไม่กี่วันที่ผ่านมา คณะนักวิทยาศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์อุตสาหกรรมชั้นสูงของประเทศญี่ปุ่น (เอไอเอสที) เพิ่งเปิดตัวต้นแบบกระจกแบบปรับเปลี่ยนตัวเองได้แบบใหม่ล่าสุด
ต้นแบบ "Switchable Mirror Glass" ของเอไอเอสทีเป็นบานกระจกสองแผ่นประกบกัน วัดขนาดได้ 60x70 เซนติเมตร
ภายในเนื้อกระจกจะมีแผ่นฟิล์มบางเฉียบสุดๆ ในระดับนาโนเมตรติดอยู่ด้วย โดยเนื้อฟิล์มผลิตจากส่วนผสมของ "แม็กนีเซียม-ไทเทเนียม อัลลอย" กับ "แพเลเดียม"
วิธีการเปลี่ยนสถานะของกระจกนั้นไม่ต้องควบคุมด้วยไฟฟ้าเหมือน "Switchable Mirror Glass" แบบอื่นๆ แต่ใช้การปล่อย "ก๊าซ" แทน โดยเมื่อปล่อย "ไฮโดรเจน" เข้าไปในช่องว่างระหว่างกระจกทั้งสองแผ่นก็จะเกิดปฏิกิริยาทำให้มันกลายเป็นกระจกใส
แต่เมื่อปล่อย "ออกซิเจน" เข้าไปแทนที่จะแปรสภาพเป็นกระจกสะท้อนแสง เหมือนดังที่ท่านผู้อ่านเห็นในภาพประกอบ
คณะผู้พัฒนากระจกเผยว่าวัสดุที่นำมาผลิตเป็นกระจกรุ่นนี้มีต้นทุน-ราคาต่ำกว่าวัสดุชนิดอื่นๆ ที่เคยนำมาผลิตกระจกประเภทเดียวกัน และเมื่อพัฒนาเสร็จสมบูรณ์น่าจะนำไปใช้ติดตั้งกับอาคาร บ้าน รวมถึงรถยนต์ได้ทั้งนั้น
ถ้าทำได้ดีจริงและราคาขายพอเหมาะเหมือนที่แถลงข่าวก็คงจะพอเรียกได้ว่าเป็น "กระจกวิเศษ" ทีเดียวนะครับนั่น
0 Comments:
Post a Comment
<< Home