Wednesday, March 08, 2006

ตะลุย"แอนตาร์กติกา"

ในแต่ละปี มีนักวิทยาศาสตร์หลายพันคน จากหลายสิบประเทศ แยกย้ายกันทำงานวิจัยในทวีป "แอนตาร์กติกา"

ถ้าหาแผนที่โลกของเรามาดูจะเห็นดินแดนแอนตาร์กติกา ปกคลุมรายล้อมอยู่รอบๆ "ขั้วโลกใต้" กินอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล

แต่ด้วยความที่มีสภาพอากาศเย็นจัดที่สุดในโลก (ติดลบเกือบ 100 องศา) บวกกับภูมิประเทศร้อยละ 98 เป็นน้ำแข็งล้วนๆ ส่งผลให้ยังไม่มีมนุษย์กลุ่มไหนหาญกล้าไปปักหลักตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร

ปัจจุบันนี้คนก็เลยต้องยอมปล่อยให้เพนกวิน แมวน้ำ สาหร่าย และสารพัดจุลชีพ ปกครองแอนตาร์กติกกันไปพลางๆ ก่อน

ลักษณะงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในดินแดนน้ำแข็งแห่งนี้ มีหลายแบบ เช่น งานเชิงชีว-ธรณีวิทยา สมุทรศาสตร์ ฟิสิกส์ ดาราศาสตร์ ซากอุกกาบาตจากนอกโลก รวมถึงการศึกษาธารน้ำแข็ง (กลาเซียร์) ที่กำลังละลายอย่างผิดปกติ และวิกฤตรูโหว่ในชั้นโอโซนเหนือทวีป ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะการสะสมของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศและปรากฏการณ์โลกร้อน

ดังนั้น "พาหนะ" ที่นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้ในการ "ขน" อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์และเครื่องไม้เครื่องมือไม่รู้กี่ร้อยชนิด จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งและต้องมีประสิทธิภาพดี

นี่คือที่มาทำให้ คณะนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยดาร์ธมุธ ช่วยกันระดมสมองประดิษฐ์ "หุ่นยนต์" พลังแสงอาทิตย์รุ่นใหม่ขึ้นมาตอบสนองความต้องการของทีมวิจัยแอนตาร์กติกาโดยเฉพาะ

หุ่นรุ่นนี้ก็คือ "คูล โรบอต" หน้าตาเหมือนกล่องติดล้อ ทำหน้าที่เป็นรถลากสัมภาระและรถสำรวจรอยแยกใต้พื้นน้ำแข็ง

นอกจากนั้น ในตัวหุ่นยนต์ยังมีอุปกรณ์หลักๆ ที่อัดแน่นอยู่ใน "คูล โรบอต" เช่น เครื่องตรวจสนามแม่เหล็ก ตรวจแผ่นดินไหว ตรวจชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์ เรดาร์ตรวจสภาพใต้พื้นผิว

ล่าสุด องค์การอวกาศสหรัฐ (นาซ่า) แสดงความสนใจ "คูล โรบอต" พอสมควร ถ้ามันทำหน้าที่ได้ดีในแอนตาร์กติกา ก็อาจได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นไปทำงานสำรวจบนดาวอังคารต่อไป

0 Comments:

Post a Comment

<< Home