"สึนามิ"ชวา-17 ก.ค. 2549
ผ่านไปยังทันครบ 2 ปี..
คลื่นยักษ์ "สึนามิ" ก็กลับมาสร้างเจ็บปวดให้กับแผ่นดินอินโดนีเซียอีกครั้ง
หนล่าสุดนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 17 ก.ค. ที่ผ่านมา
มีผู้เสียชีวิตจนถึงช่วงเที่ยงวันที่ 18 ก.ค. 300 กว่าคน ไร้ที่อยู่อาศัย 52,000 คน
โดยเกิดแผ่นดินไหว 7.7 ริกเตอร์ ลึกลงไปใต้พื้นมหาสมุทรอินเดีย 49 กิโลเมตร
อันมีต้นตอมาจากการที่แผ่นเปลือกโลกมหาสมุทรอินเดียเพลท เกิดกดทับกับแผ่นเปลือกโลกอินโดนีเซียนเพลท
ศูนย์กลางแรงสั่นสะเทือน อยู่ห่างจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ของชายฝั่งเกาะชวา ประมาณ 200 กว่ากิโลเมตร
ขณะเกิดเหตุพบว่า ระบบเตือนภัยสึนามิ ที่สหประชาชาติกับหน่วยงานเยอรมนี ติดตั้งเอาไว้ไม่ทำงาน
ในส่วนของศูนย์เตือนภัยสึนามิมหาสมุทรแปซิฟิก (พีทีเอสซี) และหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนได้ พร้อมกับออกแถลงการณ์เตือน
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากแถลงการณ์ที่ออกมานั้นเจ้าหน้าที่พีทีเอสซีเองก็ไม่เชื่อเท่าไหร่ว่าแรงแผ่นดินไหวดังกล่าวจะทำให้มีคนตายนับร้อยคนเช่นนี้
เพราะเขียนออกมาสั้นๆ ว่า มีแนวโน้มอาจเกิดสึนามิระดับท้องถิ่นขึ้น แต่คงไม่ขยายวงกว้างเท่าไหร่
ที่สำคัญการวัดระดับแรงสั่นสะเทือนในครั้งแรกได้ค่าออกมาเพียง 7.2 ริกเตอร์
แต่ที่ถูกต้องคือ 7.7 ริกเตอร์...ถือว่าแตกต่างกันมาก!
นอกจากนั้น คำเตือนยังสวนทางกับเหตุการณ์จริง ซึ่งปรากฎว่าตามแนวชายฝั่งทิศตะวันตกของเกาะชวาความนับพันกิโลเมตรล้วนถูกสึนามิซัดเข้าใส่ถ้วนหน้า
จุดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด คือ ชายหาดพันกันดารัน หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมบนเกาะชวา
เกาะชวามีสภาพภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ในจุดที่เรียกว่า "วงแหวนไฟ" หมายถึงจุดที่มีการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกบ่อย ทำให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิด
เส้นทางวงแหวนไฟนั้นลากยาวขึ้นมาถึงตอนเหนือของเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ซึ่งคือจุดเกิดโศกนาฎกรรมแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่เมื่อเดือนธันวาคม 2547 นั่นเอง
ไม่มีใครรับประกันได้ว่าแผ่นดินไหวตามด้วยสึนามิจะไม่เกิดขึ้นอีกในภูมิภาคนี้!
0 Comments:
Post a Comment
<< Home