Tuesday, August 01, 2006

ครบ10ปีแกะ"ดอลลี่" โคลนนิ่งยังไม่ก้าวหน้า

ย้อนกลับไปในเดือนกรกฎาคม เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

โลกตื่นตะลึงกับข่าวสัตว์ทดลองรหัส "6LL3" ที่กำเนิดขึ้นมาด้วยกระบวนการคัดลอกแบบพันธุกรรม (โคลนนิ่ง)

แน่นอน สัตว์ตัวนี้ก็คือเจ้าแกะเพศเมียที่มีชื่อเล่นว่า "ดอลลี่" สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวแรกของโลกที่เกิดจากการโคลนนิ่ง

ดอลลี่ เป็นผลงานของคณะนักวิจัยสถาบันโรสลิน สกอตแลนด์ นำโดย ดร.เอียน วิลมุต

การถือกำเนิดของดอลลี่สร้างความวิตกทั้งในหมู่ผู้เคร่งศาสนา ผู้คนทั่วโลก และนักวิทยาศาสตร์บางส่วน

เนื่องจากเกรงว่าการที่มนุษย์สวมบทพระเจ้ามาให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตด้วยผิดธรรมชาติแบบนี้ จะเป็นอันตรายใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติ

ความหวาดกลัวข้างต้นคงไม่ใช่เรื่องไกลความจริงจนเกินไป

เพราะตามข้อเท็จจริงแล้ว ดอลลี่เป็นแกะเพียงตัวเดียวจากทั้งหมด 277 ตัว ที่เกิดขึ้นมาได้สำเร็จด้วยการโคลนนิ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น สัตว์โคลนนิ่งที่เกิดมาทั้งหมดทุกตัวล้วนแต่มี "ดีเฟ็กต์"

หรือมีความผิดปกติในระดับพันธุกรรม

จะมากจะน้อยก็แตกต่างกันไปตามแต่ละตัว

จุดอ่อนสำคัญของการโคลนนิ่ง คือ วงจรชีวิตของสัตว์กลุ่มนี้สั้นกว่าสัตว์ที่เกิดตามธรรมชาติอย่างชัดเจน

เฉพาะแกะดอลลี่เองก็ต้องจบชีวิตขณะอายุ 6 ปี ด้วยโรคปอด

ถือว่าวงจรชีวิตสั้นกว่าแกะทั่วไป 2-3 เท่า แม้มันจะได้รับการดูแลอย่างดี

เหตุการณ์ที่ส่งผลสะเทือนครั้งใหญ่ต่อความน่าเชื่อถือของเทคนิคโคลนนิ่งเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว

ภายหลังจาก ดร.ฮวาง วู-ซุก นักวิจัยชาวเกาหลีใต้ชื่อดัง ถูกเปิดโปงว่าปลอมแปลงผลงานโคลนนิ่งตัวอ่อนมนุษย์เพื่อนำมาผลิตเป็นสเต็มเซลล์ (เซลล์ต้นกำเนิด) ส่งผลให้ "ฮีโร่โคลนนิ่ง" คนนี้กลายเป็น "ฮีลวง" ระดับโลกในพริบตา

ขณะเดียวกัน การโคลนนิ่งสัตว์อื่นๆ เช่น วัว ก็มีกระแสต่อต้านจากกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคที่กลัวว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์ประเภทนี้ เช่น น้ำนมและเนื้อ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้คน

เส้นทางตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาถือว่าศาสตร์โคลนนิ่งถูกท้าทางอย่างรอบด้าน ทั้งในเรื่องเทคโนโลยีและศีลธรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผู้บุกเบิกต้องฝ่าฟันอย่างหนักต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า

0 Comments:

Post a Comment

<< Home