คุณภาพ"อสุจิ" เสื่อมถอยไปตามวัย
ร่างกายของมนุษย์มีระบบการทำงานที่เรียกว่า "นาฬิกาชีวภาพ"
พูดสั้นๆ หมายถึง ระบบการทำงานต่างๆ ในตัวเราย่อมเสื่อมไปตามกาลเวลาและผลกระทบจากสภาพแวดล้อม
ในกรณีของระบบสืบพันธุ์ เราคงเคยได้ยินกันมาว่า สำหรับ "ผู้หญิง" นั้น ยิ่งตั้งครรภ์ขณะมีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ก็มีโอกาสเป็นอันตรายต่อทั้งตัวเองและลูกที่จะเกิดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความเสี่ยงสูงที่ลูกจะคลอดออกมาแล้วป่วยเป็น "ดาวน์ซินโดรม"
อาจพูดได้ว่าด้วยเหตุนี้ ธรรมชาติจึงออกแบบมาให้นาฬิกาชีวภาพในส่วนของ "ประจำเดือน" ของคุณผู้หญิงต้องหยุดทำงาน เพื่อความปลอดภัยของชีวิตนั่นเอง
ล่าสุด "แอนดรู ไวโรเบ็ก" นักวิจัยประจำห้องปฏิบัติการลอว์เรนซ์ ลิเวอร์มอร์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กับ "เบรนดา เอสเคนไซ" จากภาควิชาสาธารณสุข มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พร้อมคณะทำงาน
ร่วมมือกันศึกษาวิเคราะห์ "น้ำเชื้อ-อสุจิ" (สเปิร์ม) ของอาสาสมัครชาย 97 คน ที่มีสุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีประวัติสูบบุหรี่ อายุระหว่าง 22-80 ปี และตีพิมพ์ไว้ในวารสารสมาคมวิทยาศาสตร์สหรัฐ พบว่า
อสุจิของผู้ชายก็มีนาฬิกาชีวภาพคอยควบคุมอยู่เช่นกัน
โดยยิ่งผู้ชายมีอายุมากขึ้นเท่าไหร่ ความแข็งแรง หรือ คุณภาพของอสุจิ ก็จะลดลงมากขึ้นเท่านั้น
สาเหตุเพราะหน่วยพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) ของอุสจิ จะเกิดการกลายพันธุ์ หรือ "มิวเตชั่น"
ส่งผลให้ความสามารถในการแหวกว่ายผ่านช่องคลอดเข้าไปเจาะ "ไข่" ของผู้หญิงลดลง เนื่องจากตัวอุสจิว่ายไปไม่เป็นเส้นตรง
นอกจากนั้น ความผิดปกติของดีเอ็นเอในอสุจิจะเพิ่มความเสี่ยงให้ลูกที่เกิดมา ป่วยด้วยอาการ "อะคอนโดรเพลเซีย"
ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม ทำให้ผู้ป่วยมีร่างกายแคระแกร็น แขน-ขาสั้นกว่าคนทั่วไปที่มีอายุเท่ากัน
ด้านนักวิทยาศาสตร์สถาบันอื่นๆ ในสหรัฐจะเห็นตรงกันว่า ข้อมูลใหม่ของไวโรเบ็กและคณะในครั้งนี้มีประโยชน์และควรต้องศึกษาลงลึกต่อไป อย่างไรก็ตาม คุณผู้ชายก็ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินเหตุ เพราะในชีวิตประจำวันของเราทุกคนก็มีปัจจัยแวดล้อมที่ทำลายคุณภาพอสุจิอยู่แล้ว เช่น สารพิษในอาหาร-อากาศ มรดกตกทอดทางกรรมพันธุ์จากบรรพบุรุษ ความเครียด ฯลฯ
เมื่อถึงวัยที่คิดว่าตัวเองพร้อมมีลูก มีความรับผิดชอบเพียงพอก็ควรจะมี และควรตรวจสุขภาพให้เรียบร้อย
แต่ถ้าแก่แล้วและอยากมีลูก ควรรู้ตัวเองว่าถ้าต้องลาจากโลกนี้ไป แล้วใครจะอยู่ดูแลทั้งลูกและครอบครัวที่อยู่เบื้องหลัง!
0 Comments:
Post a Comment
<< Home