"ลูกบอลอัจฉริยะ" แก้ปัญหา"ประตู"คาใจ
จนถึงวันปิดต้นฉบับ ศึกฟุตบอลโลก 2006 มีลูกปัญหาคาใจอยู่ 2 ลูก
ลูกแรก อาร์เจนตินาโหม่งชนเสาและทำท่าจะเข้าประตูไอวอรีโคสต์
ส่วนอีกลูกฮือฮาไปทั่วโลก เพราะเป็นลูกที่ฝรั่งเศสยิงและนายทวารเกาหลีใต้ปัดออกจากเส้นประตู
ผลจากการดูภาพรีเพลย์ พบว่า เป็นลูกเข้าประตูจริงๆ ทั้งสองลูก
แต่เมื่อ "ผู้ตัดสิน-กรรมการ" ชี้ขาดไปแล้วว่าไม่เข้า ก็ต้องแปลว่าไม่ได้ประตู
ปัญหายิงเข้า-ไม่เข้านี้พูดกันมาหลายยุคหลายสมัย
คนบางกลุ่มถึงกับเสนอให้กรรมการต้องตัดสินตามภาพรีเพลย์ที่ปรากฏในเทป แบบเดียวกับการแข่งอเมริกันฟุตบอล
แม้ปัจจุบัน "ฟีฟ่า" ยังไม่ยอมรับข้อเสนอข้างต้น เพราะเกรงว่าการใช้ "เครื่อง" มาตัดสินแทน "คน" จะทำลายเสน่ห์กีฬาลูกหนัง แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจอยู่เฉยๆ พยายามทดลองนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยกรรมการสนามตัดสินอยู่บ้าง
ตัวอย่างล่าสุดก็เช่นก่อนศึกฟุตบอลโลก 2006 จะระเบิดขึ้น "ฟีฟ่า" จับมือกับหลายองค์กรเพื่อสร้างระบบ "ลูกฟุตบอลอัจฉริยะ" เพื่อนำมาใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 และมีการทดสอบระบบในการแข่งขันฟุตบอลของประเทศเปรูเมื่อปีก่อน
สำหรับองค์กรที่เข้ามาร่วมมือกับ "ฟีฟ่า" ได้แก่ บริษัทเคียรอส เทคโนโลยี เยอรมนี สถาบันฟรานฮอเฟอร์ไอซี บริษัทพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์อีกหลายแห่ง และบริษัทอาดิดาส
โดยภายในลูกฟุตบอลอัจฉริยะนั้นจะถูกฝังชิพคลื่นวิทยุ "อาร์เอฟไอดี"
ขณะที่รอบๆ สนามแข่งจะติดตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์ คอยดักจับสัญญาณจากลูกบอลว่ากำลังวิ่งไปในทิศทางไหน
ถ้าลูกบอลเลยเข้าเขตเส้นประตู ระบบก็จะส่งสัญญาณเตือนไปที่นาฬิกาข้อมือชนิดพิเศษของกรรมการเพื่อให้รับทราบทันที
อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบพบว่าระบบยังไม่สมบูรณ์ 100% เนื่องจากลูกบอลอาร์เอฟไอทีแยกไม่ออกว่าลูกกระทบด้านนอกกับด้านในของตาข่ายแตกต่างกันอย่างไร และเมื่อสับเปลี่ยนลูกบอลใหม่เข้ามาในสนามมักจะทำให้ระบบรวนและล่ม
บริษัทเคียรอส บอกว่า หลังจบศึกบอลโลกจะนำบอลอัจฉริยะมาปรับปรุงกันอีกที
ส่วนตอนนี้ก็เชื่อฟังกรรมการกันไปก่อน ไม่งั้นเจอใบแดงสถานเดียว! (22 มิ.ย. 2549)
0 Comments:
Post a Comment
<< Home