Monday, June 12, 2006

"โปรตุเกส"ตอกเสาเข็ม โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ยักษ์

ภาพพจน์ของ "โรงไฟฟ้า" ต้องยอมรับว่าเป็น "ผู้ร้าย" มาโดยตลอดในสายตานักอนุรักษ์

ตัวผู้บริหารโรงไฟฟ้าเองก็คงรับรู้จุดอ่อนข้อนี้ดี

เพราะโรงไฟฟ้าทั่วโลกส่วนใหญ่ยังก้มหน้าก้มตาพึ่งพานำเชื้อเพลิงโบราณที่เรียกว่า "เชื้อเพลิงฟอสซิล" ไม่ว่าจะเป็นก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน ถ่านหิน ลิกไนต์ มาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้า

อย่างดีที่สุด ผู้บริหารโรงไฟฟ้าก็บอกกับผู้คนได้เพียงว่า ไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

ไม่ว่ามันจะพ่นก๊าซพิษสู่อากาศ-ชั้นบรรยากาศ-สิ่งแวดล้อมมากเท่าไหร่ คนในชาตินั้นๆ ต้องรับชะตากรรมไป

ของแบบนี้จึงขึ้นอยู่ใน "วิสัยทัศน์" ผู้บริหารประเทศว่า ตกลงในอนาคตนั้นเราจะหาทางออกยังไงกันดีเรื่องพลังงาน?

จะค่อยๆ คิดเทคโนโลยีพลังงานสะอาดใหม่ๆ หรือจะใช้พลังงานสกปรกต่อไป?

ล่าสุด รัฐบาลกับภาคเอกชนในโปรตุเกส กำลังร่วมมือกันมองออกไปไกลๆ ให้พ้นจากกรอบการพึ่งพิงเชื้อเพลิงฟอสซิล ด้วยการเริ่มต้นทดลองโครงการก่อสร้าง "โรงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์" ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ปิเอโร ดาล มาโซ ผู้บริหารบริษัทพลังงานหมุนเวียน "คาตาเวนโต" ซึ่งรับผิดชอบโครงการนี้ เปิดเผยว่า

โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ดังกล่าวจะก่อสร้างขึ้นบนพื้นที่ 375 ไร่ในเขตอะเลเอนโญ ทางภาคใต้ของโปรตุเกส ซึ่งมีแดดดีเกือบทั้งปี

ตามแผนที่วางเอาไว้ จะติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ เกือบ 55,000 ชุด ผลิตไฟฟ้าได้ 11 เมกะวัตต์ เพียงพอสำหรับการจ่ายไฟป้อนบ้าน 8,000 หลังคาเรือน เมื่อเปิดใช้งานต้นปีหน้า

และช่วยลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศได้ปีละ 30,000 ตัว แม้เป็นตัวเลขไม่มากมาย แต่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

จุดเด่นของโซลาร์เซลล์ที่ใช้ติดตั้งในครั้งนี้ก็คือ สร้างด้วยระบบ "เพาเวอร์แทร็กเกอร์" ทำให้แผงโซลลาร์เซลล์สามารถหมุนตามวิถีโคจรของดวงอาทิตย์เพื่อรับแสงแดดเต็มๆ ตั้งแต่เช้าจรดเย็น

ปิเอโร เชื่อมั่นว่าในอนาคต โลกจะต้องคิดค้นเทคโนโลยีเพื่อนำเอาพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ ลม คลื่น แสงอาทิตย์ และน้ำ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตน้ำมันและใช้ทดแทนเชื้อเพลิงโบราณที่สร้างมลพิษอย่างมากมหาศาล!

0 Comments:

Post a Comment

<< Home