เสพติดอินเตอร์เน็ต
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศเพิ่งรายงานไว้ว่า อัตราผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกทะลุหลัก 1 พันล้านคนไปแล้ว
ในจำนวนนี้ เป็นประชากรที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกามากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่ในสหรัฐ มีการศึกษาลงลึกถึงเรื่องพฤติกรรม "เสพติดโลกอินเตอร์เน็ต-โลกออนไลน์" แพร่หลายมากขึ้น
ในบางมหาวิทยาลัยถึงกับต้องจัดตั้ง "ศูนย์ให้คำปรึกษา" แก่คนที่สงสัยว่าตัวเองกำลังใช้เวลาออนไลน์มากผิดปกติ จนเสียการเรียน
ดร.ไดแอน เวียแลนด์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะพยาบาล มหาวิทยาลัยลาซาลล์ รัฐเพนซินเวเนีย ซึ่งทำงานด้านการรักษาบำบัดผู้ป่วยเสพติดโลกออนไลน์ ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์เสพติดโลกออนไลน์อยู่ในขั้นน่าเป็นกังวล
แต่ยังฟันธงไม่ได้ว่าปัญหาขยายตัวไปมากขนาดไหนแล้ว
สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ยอมรับ หรือ ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเดินไปในทิศทางนั้น
เปรียบเหมือนกับผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังช่วงแรกๆ ที่จะไม่สังเกตว่าตัวเองกำลังป่วย
เวลาดื่มสุราชอบอ้างว่า "ขอเป็นแก้วสุดท้าย" แต่ท้ายที่สุดก็ควบคุมพฤติกรรมการดื่มไม่ได้ ทั้งยังดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับผู้มีอาการเสพติดโลกออนไลน์ก็มีลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยมักคิดว่า
"แค่เล่นอินเตอร์เน็ตต่อแค่ 2-3 นาทีคงไม่มีอะไรเสียหายมากมายนัก!"
ดร.เวียแลนด์ ประเมินจากประสบการณ์ว่า ทั่วสหรัฐน่าจะมีผู้เข้าข่ายเสพติดโลกออนไลน์ 5-10%
ระดับของอาการจะแตกต่างกันออกไป
โดยขั้นรุนแรงมากๆ อาจถึงระดับติดบ่วงเสน่หากับคู่สนทนาที่เจอกับในอินเตอร์เน็ตจนกระทั่งมีปัญหาทะเลาะกับคู่สมรสในชีวิตจริง
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเสพติดโลกออนไลน์มากที่สุด คือ
ผู้ป่วยหรือเคยป่วยด้วยอาการซึมเศร้า พิษสุราเรื้อรัง และมีประวัติติดยาเสพติด
สำหรับคนที่สงสัยว่าเราเข้าข่ายป่วยด้วยโรคไฮเทคนี้หรือไม่
ทุกวันนี้แบบทดสอบอาการเสพติดการใช้งานอินเตอร์เน็ต หรือ เสพติดโลกออนไลน์ นั้นมีแพร่หลายพอสมควร
เท่าที่สำรวจตรวจสอบข้อมูลมา พอสรุปอาการเบื้องต้นได้ 10 ข้อ ด้วยกัน
1. หยุดเล่นอินเตอร์เน็ตไม่ได้
ในกรณีนี้จะถือว่าอาการยิ่งรุนแรงมากขึ้น
ถ้าเกิดเคยสัญญากับตัวเอง หรือ บุคคลอื่นว่าจะลดเวลาการออนไลน์
แต่ผลสุดท้ายก็ทำไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้
2. เริ่มโกหก
โกหกบุคคลรอบข้างว่าไม่ได้เล่นอินเตอร์เน็ต แต่จริงๆ
แล้วพยายามทุกวิถีทางเพื่อหาโอกาสออนไลน์
3. สถานการณ์เริ่มเลวร้าย
แต่ยังไม่รู้ตัว
เมื่อเสียเวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากๆ เข้า
ก็จะทำให้ไม่มีเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
4. มีพฤติกรรมผิดศีลธรรม
เวลาเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์
เริ่มกลายเป็นคนชอบโกหกหลอกลวง กล้าทำกล้าพูดในสิ่งผิดศีลธรรม
เพราะรู้ว่าสามารถปกปิดสถานะที่แท้จริงของตัวเองได้
5. ไม่รู้เวลา
นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นอินเตอร์เน็ตโดยไม่รู้เวลา
จัดลำดับความสำคัญของการงาน หรือ การเรียนไม่ได้
6. ติดเน็ต-เหมือนติดยา
เวลาออนไลน์แล้วรู้สึกขัดแย้งในตัวเอง เช่น รู้ว่าการเล่นอินเตอร์เน็ตมากๆ
เป็นสิ่งไม่ดี แต่ห้ามตัวเองไม่ได้ เพราะเสพติดไปแล้ว
7.
ชีวิตขาด"เน็ต"ไม่ได้
แสดงปฏิกิริยาต่อต้านทันที เมื่อถูกบีบบังคับ หรือ
จำเป็นต้องลดเวลาการออนไลน์
8. คิดอะไรไม่ออก
ขณะทำกิจกรรมต่างๆ
เช่น รับประทานอาหาร ทำงาน อ่านตำรา ฯลฯ
จะห้ามใจไม่ให้คิดถึงการเล่นอินเตอร์เน็ตไม่ได้
9. แยกตัว
เกิดอาการแยกตัวจากสังคม ไม่กล้าเผชิญหน้ากับชีวิตจริง
โดยเข้าไปหลบตัวอยู่ในโลกของอินเตอร์เน็ตแทน
10. สิ้นเปลืองเงิน
สิ้นเปลืองเงินทองไปกับการอัพเกรดคอมพิวเตอร์ การอยู่ในโลกออนไลน์ หรือ ใช้จ่ายเงินหมดไปกับเวลาค่าใช้อินเตอร์เน็ตโดยไม่จำเป็น
เหล่านี้เป็นแบบทดสอบเบื้องต้นเพื่อจะดูว่ามีอาการเสพติดอินเตอร์เน็ตหรือไม่ครับ
0 Comments:
Post a Comment
<< Home