Tuesday, August 01, 2006

แผนอพยพหนีสึนามิ สำคัญพอๆ กับระบบเตือน

องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) แถลงข่าวล่าสุด เดือนก.ค. 2549 ว่า

ระบบเตือนภัยคลื่นยักษ์ "สึนามิ" รุ่นใหม่ติดตั้งสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ครอบคลุมประเทศที่มีอาณาเขตติดมหาสมุทรอินเดีย

ประกอบด้วยสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว 25 แห่ง บวกกับของเก่าอีก 5 แห่ง รวมถึงระบบทุ่นเซ็นเซอร์ตรวจวิเคราะห์และรายงานสึนามิใต้มหาสมุทร (DART) อีก 3 ชุด หน่วยงานที่รับผิดชอบการวางระบบเหล่านี้ คือ คณะกรรมาธิการสมุทรศาสตร์นานาชาติ (ไอโอซี)

ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดยูเนสโก จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ 40-50 ปีก่อน ภายหลังจากเกิดแผ่นดินไหลและคลื่นสึนามิถล่มเกาะอะลัวเชี่ยนในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อปีพ.ศ.2489

พาทริซิโอ เบอร์นัล เลขาธิการยูเนสโก-ไอโอซี กล่าวว่า จำเป็นต้องวางระบบเตือนภัยสึนามิรุ่นใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียซ้ำรอยกับโศกนาฏกรรมสึนามิถล่มชายฝั่งประเทศในแถบมหาสมุทรอินเดีย เมื่อเดือนธันวาคม 2547

โดยสรุป, ระบบเตือนภัยสึนามิใหม่นี้จะทำหน้าที่คอยตรวจวัดระดับน้ำทะเล วัดแรงดันของน้ำในมหาสมุทร และจับแรงสั่นสะเทือนทั้งจากใต้ทะเลและบนบก

สำหรับเซ็นเซอร์ตรวจสึนามิในทะเลนั้นจะส่งสัญญาณแจ้งกลับมายังสถานีเตือนภัยภาคพื้นดินผ่านเครือข่ายดาวเทียม

เบอร์นัลย้ำว่า โดยตัวระบบเตือนภัยคาดว่าน่าจะทำงานได้ดี ไม่ผิดพลาด

แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ ระบบการกระจายข้อมูลข่าวสาร-แจ้งเตือนภัยสึนามิทั้งในระดับรัฐต่อรัฐ และรัฐถึงประชาชนต้องเป็นไปด้วยความสอดคล้อง รวดเร็ว

การใช้ "เอสเอ็มเอส" มือถือช่วยส่งข้อความเตือนภัยไปถึงชาวบ้านเป็นข้อดีมาก

แต่ต้องคอยซักซ้อมป้องกันไม่ให้ระบบล่ม

นอกจากนั้น การจัดทำแผนที่เส้นทางอพยพยามเกิดสึนามิ และซักซ้อมแผนอพยพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่แถบโรงเรียนและโรงพยาบาลต้องวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพและรัดกุมที่สุด

ปราศจากการวางแผนอพยพและฟื้นฟูสถานการณ์ที่ดีแล้ว

ถึงจะมีระบบเตือนภัยที่ไฮเทคขนาดไหน ก็แทบไม่มีประโยชน์!

0 Comments:

Post a Comment

<< Home