Wednesday, February 15, 2006

วัคซีน"นิกวักซ์" ยาช่วยเลิกบุหรี่


ในสหรัฐอเมริกากำลังวิจัยประสิทธิภาพของ "วัคซีนกำจัดสารนิโคติน" ที่อยู่ในบุหรี่ ไม่ให้เข้าไปสู่ "สมอง" ของสิงห์อมควัน

วัคซีนดังกล่าวมีชื่อว่า "นิกวักซ์" พัฒนาและจดสิทธิบัตรโดยบริษัทยา "นาบี ไบโอฟาร์มาซูติคัลส์" ตั้งแต่ปี 2547 ขณะนี้การวิจัยนิกวักซ์ในคนเข้าสู่ขั้นที่ 2 ได้รับเงินสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันยาเสพติดแห่งชาติสหรัฐและบริษัทนาบี

หน่วยงานที่เข้าร่วมวิจัยประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมินเนโซตา มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน และมหาวิทยาเนบราสกา เราทราบกันดีว่า "นิโคติน" เป็นสารเสพติดสำคัญในบุหรี่ ที่ทำให้สิงห์อมควันเลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ง่ายๆ ส่วนคนที่ต้องตัดใจเลิกส่วนใหญ่ก็เพราะโดนนิโคตินกับเจ้าสารพิษตัวอื่นๆ ในบุหรี่เล่นงานจนป่วยงอมพระรามไปแล้ว

ดร.โดโรธี ฮัตสุกามิ ผู้อำนวยศูนย์วิจัยโรงมะเร็งที่เกิดจากการสูบบุหรี่ประจำมหาวิทยาลัยมินเนโซตา เปิดเผยว่า โครงการทดลองนิกวักซ์ขั้นที่ 2 ใช้อาสาสมัครที่เป็นกลุ่มคนสูบหรี่จัด 68 คน และเฝ้าติดตามพฤติกรรมหลังจากฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง 38 สัปดาห์ พบว่า

ในเบื้องต้น นิกวักซ์สามารถออกฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารภูมิคุ้มกัน (Antibodies) ชนิดหนึ่งขึ้นมา ซึ่งมีคุณสมบัติสกัดกั้นและป้องกันไม่ให้สารนิโคตินหลุดจากกระแสเลือดเข้าไปออกฤทธิ์ในสมอง "ผลที่ตามมาจากการที่วัคซีนนิกวักซ์ป้องกันไม่ให้นิโคตินเข้าไปสู่สมองก็คือ เราจะไม่ค่อยรู้สึกสบายเนื้อสบายตัวเวลาสูบบุหรี่ และสมองก็จะไม่เกิดอาการเสพติดสารนิโคติน" ดร.ฮัตสุกามิ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ฤทธิของวัคซีนในการสกัดกั้นนิโคตินยังทำไม่ได้แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น การฉีดวัคซีนยังทำให้อาสาสมัครบางส่วนเกิดอาการแพ้ยาต่างๆ กัน เช่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บตรงบริเวณที่ฉีดวัคซีนเข้าไป แต่อาการเหล่านี้จะหายไปภายใน 3 วัน

ดร.ฮัตสุกามิ ระบุว่า การวิจัยนิกวักซ์ยังต้องเดินหน้าเก็บข้อมูลต่อไปอีกระยะ เพราะยังมีคำถามหลักๆ อีก 2-3 ข้อ ที่ต้องตอบให้ได้ก่อนนำออกไปใช้จริง นั่นคือ วัคซีนตัวนี้จะออกฤทธิ์ไปได้นานเท่าไหร่ และสามารถป้องกันไม่ให้คนที่เลิกสูบบุหรี่ไปแล้วกลับมาสูบอีกครั้งได้หรือไม่

0 Comments:

Post a Comment

<< Home