Wednesday, February 15, 2006

ภัยของ'บล็อก-ไดอารี่ออนไลน์'

ในฐานะที่ "สหรัฐอเมริกา" จัดเป็นประเทศกลุ่มหัวแถวด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต เวลาเกิด "ข้อเสีย" จากการใช้ชุมชนอินเตอร์เน็ตผิดวิธี ย่อมต้องได้รับผลกระทบก่อนใครเพื่อน และชาติที่เดินตามหลังด้านเทคโนโลยี ก็น่าจะด้อมๆ มองๆ ดูสหรัฐเอาไว้เป็นตัวอย่าง จะได้ไม่ต้องผิดพลาดตามไปด้วย!

ล่าสุด ปรากฏการณ์ฮิตติดลมบนของ "บล็อก" ส่วนตัว หรือ "ไดอารี่ออนไลน์" ทั้งหลายในสหรัฐ กำลังค่อยๆ สร้างปัญหาให้กับเยาวชนอเมริกัน นั่นเป็นเพราะ "ข้อมูล" ที่กลุ่มเยาวชนเขียนป้อนใส่เข้าไปในบล็อกของตนเองนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชื่อ-นามสุกล หมายเลขโทรศัพท์ ภาพถ่าย และที่อยู่ ส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลจริง เสี่ยงมากต่อการที่ "อาชญากรอินเตอร์เน็ต" จะเข้าไปเก็บข้อมูลมาใช้แบบสบายๆ

ประเด็นที่นักวิชาการด้านสื่อสารของสหรัฐอเมริกา วิตกยิ่งกว่านั้นก็คือ เรื่องราวในชีวิตประจำวันที่เยาวชนอเมริกันเขียนและนำไปโพสต์บนบล็อก หรือ ไดอารี่ออนไลน์ ก็เป็นเรื่องจริงเช่นกัน

ดูในมุมวัยรุ่น "การเขียนเรื่องจริง" มีค่าเท่ากับความจริงใจ เปิดเผย ไม่หลอกลวง แต่มุมกลับที่วัยรุ่นลืมคิดไปนั่นคือ บล็อกนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะในโลกอินเตอร์เน็ต ฉะนั้นบุคคลที่ไม่รู้หัวนอนปลายเท้าจากไหนจะเข้ามาสอดส่องพฤติกรรมประจำวันของผู้เขียนบล็อกก็ได้!

พฤติกรรมรายวันที่เคยเขียนเหล่านี้นี่แหละ ในอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้ายามที่ผู้เขียนบล็อกเติบโตขึ้นกลายเป็น "ผู้ใหญ่" หรือมีเหตุต้องกลายเป็น "บุคคลสาธารณะ"...ข้อมูลในอดีตที่เคยเขียนบันทึกเอาไว้อาจถูก "ผู้ไม่หวังดี" งัดขึ้นมาโจมตีได้

กรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นแล้วกับ "มายา มาเซล คีย์ส" บุตรสาวของนายอลัน คีย์ส นักการเมืองหัวอนุรักษ์นิยมในรัฐอิลลินอยส์ ในช่วงเวลาไม่นานก่อนหน้าการหาเสียงเลือกตั้งวุฒิสมาชิกอิลลินอยส์ มีคนเข้ามาที่บล็อกของ "มายา" และหลอกให้แสดงความเห็นเกี่ยวกับกลุ่มรักร่วมเพศ ทำให้เธอเขียนไปว่าเธอเคยมีประสบการณ์ "หญิงรักหญิง" และพอถึงวันเลือกตั้งก็มีคนนำข้อความที่ "มายา" เขียนไปโจมตีนายอลันทันที

การใช้เทคโนโลยีนั้นต้องรู้เท่าทัน ถ้าไม่ระวังตัวก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อสูง!

0 Comments:

Post a Comment

<< Home