Wednesday, February 15, 2006

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ย่างก้าวที่ต้องรัดกุม

ตอนที่ 1

ปัญหา "น้ำมันแพง" ที่ปะทุอยู่ในเมืองไทยในขณะนี้

ถ้าเปรียบเป็นมวยก็ไล่ทุบไล่ถอง "รัฐบาลทักษิณ" จนน่วมจวนเจียนจะร่วงแหล่ไม่ร่วงแหล่

โครงการพลังงานทางเลือกต่างๆ และนโยบายประหยัดพลังงานถูกงัดออกมาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดรัฐบาลพยายามลดกระแสกดดันด้านวิกฤตพลังงานอีกครั้ง

ด้วยการมอบนโยบายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ปัดฝุ่นเปิดเกมรุก สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับการนำ "พลังงานนิวเคลียร์" มาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าในอนาคต เพื่อเพิ่มพลังงานทางเลือกนอกเหนือจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ

ปัจจุบันเมื่อดูจากข้อมูลของสำนักงานปรมาณูสากล (ไอเออีเอ) พบว่า "โรงงานไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์" ทั่วโลกมี 400-500 โรง

ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศที่มีเทคโนโลยีสูง หรือไม่ก็ประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐ แคนาดา จีน รัสเซีย ยูเครน อินเดีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น

ขณะเดียวกันบางประเทศก็จำเป็นต้อง "ดิ้นรน" สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อเหตุผลทางการเมือง สร้างเอาไว้ "ขู่-บลัฟ" ชาติอื่นๆ เช่น เกาหลีเหนือและอิหร่าน ซึ่งกำลังเปิดเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์อีกครั้ง

การสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นก้าวย่างที่ต้องทำด้วยความรัดกุมรอบคอบสูงสุด บุคลากร-เทคโนโลยี-การเตรียมการต้องพร้อม

ไม่เช่นนั้นถ้าเกิดอุบัติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นกับโรงไฟฟ้าประเภทนี้จะมีโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ตามมา เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วกับโรงไฟฟ้า "เชอร์โนบิล" ในยูเครน ซึ่งเจ้าหน้าที่ควบคุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทำงานด้วยความประมาท ทำให้ "กัมมันตรังสี" ฟุ้งกระจายออกไปสู่หลายประเทศ

จากข้อมูลของ "ศูนย์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ระบุว่า ข้อดีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็คือ เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่และมีความมั่นคงสูง เพราะสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าต่อเนื่องนานเป็นปีโดยไม่ต้องเติมเชื้อเพลิง ทั้งยังเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่ปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นต้นเหตุของฝนกรดและก๊าซเรือนกระจก

แต่ข้อเสีย อันตราย และข้อควรระวังของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็มีเช่นกัน พรุ่งนี้มาว่ากันต่อ

ตอนที่ 2

เมื่อวานเกริ่นนำและเล่าถึงข้อดีของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร มีความคิดจะจัดสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นพลังงานทางเลือกแทนน้ำมันเชื้อเพลิง วันนี้มาว่ากันต่อถึงลักษณะข้อควรระวังของการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

จากข้อมูลของศูนย์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า ชนิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วโลกทุกวันนี้มี 3 แบบ ได้แก่

1. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบความดันสูง
โรงไฟฟ้าชนิดนี้น้ำจะถ่ายเทความร้อนจากแท่งเชื้อเพลิงจนมีอุณหภูมิสูงถึงประมาณ 320
องศาเซลเซียส ภายในถังขนาดใหญ่ที่อัดความดันไว้เพื่อไม่ให้น้ำเดือดกลายเป็นไอ
และนำน้ำส่วนนี้ไปถ่ายเทความร้อนให้แก่น้ำหล่อเย็นอีกระบบหนึ่งที่ควบคุมความดันไว้ต่ำกว่า
เพื่อให้เกิดการเดือดผลิตไอน้ำออกมาเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำในถังปฏิกรณ์
ซึ่งมีสารรังสีเจือปนอยู่แพร่กระจายไปยังอุปกรณ์ส่วนอื่นๆ
ตลอดจนป้องกันการรั่วของสารกัมมันตรังสีสู่สิ่งแวดล้อม
โรงไฟฟ้าชนิดนี้มีข้อด้อยกว่าตรงที่ถังปฏิกรณ์มีราคาสูง
เนื่องจากต้องมีระบบป้องกันการรั่วไหลของน้ำระบายความร้อนและอัตราการไหลของน้ำภายในถังสูงในสภาวะความดันและอุณหภูมิสูง
เป็นผลให้เกิดปัญหาการสึกกร่อนตามมา

2. โรงไฟฟ้าแบบน้ำเดือด
ผลิตไอน้ำโดยตรงจากการต้มน้ำภายในถังซึ่งควบคุมความดันภายในต่ำกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แบบแรก
ดังนั้น ความจำเป็นในการใช้เครื่องผลิตไอน้ำและแลกเปลี่ยนความร้อน ปั๊ม
และอุปกรณ์ช่วยอื่นๆ ก็ลดลง
แต่จำเป็นต้องมีการสร้างอาคารป้องกันรังสีไว้ในระบบอุปกรณ์ส่วนต่างๆ ของโรงไฟฟ้า
เนื่องจากไอน้ำจากถังปฏิกรณ์จะถูกส่งผ่านไปยังอุปกรณ์เหล่านั้นโดยตรง

3. โรงไฟฟ้าแบบที่สามคือแบบ "แคนดู" มีการทำงานคล้ายคลึงกับแบบที่ 1
แต่แตกต่างกันที่มีการจัดแกนปฏิกรณ์ในแนวระนาบ
และเป็นการต้มน้ำภายในท่อขนาดเล็กจำนวนมากที่มีเชื้อเพลิงบรรจุอยู่แทนการต้มน้ำภายในถังปฏิกรณ์ขนาดใหญ่
เนื่องจากสามารถผลิตได้ง่ายกว่าการผลิตถังขนาดใหญ่ โดยใช้ "น้ำมวลหนัก"
มาเป็นตัวระบายความร้อนจากแกนปฏิกรณ์ นอกจากนี้
ยังมีการแยกระบบใช้น้ำมวลหนักเป็นตัวหน่วงความเร็วนิวตรอนด้วย
เนื่องจากมีการดูดกลืนนิวตรอนน้อยกว่าน้ำธรรมดา
ทำให้ปฏิกิริยานิวเคลียร์เกิดขึ้นได้ง่าย

ข้อควรระวังอันดับต้นๆ ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นอกเหนือจากการป้องกัน "รังสี" รั่วไหลก็คือ โรงไฟฟ้าชนิดนี้ต้องใช้ "น้ำ" จากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้าไประบายความร้อนไอน้ำในโรงไฟฟ้าก่อนจะปล่อยน้ำร้อนดังกล่าวกลับสู่แหล่งน้ำตามเดิม ผลกระทบที่ตามมาคือ สัตว์น้ำที่ปรับตัวเข้ากับน้ำร้อนจากโรงงานไม่ได้จะย้ายถิ่นฐานหนีไป ทำให้ชาวประมงต้องย้ายที่ทำกินตามไปด้วย

การสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จึงต้องมีการสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยละเอียดอย่างต่ำ 4 ปี ถึงจะลงมือก่อสร้างได้จริง

0 Comments:

Post a Comment

<< Home