ฝึกใช้"สุนัข"ตรวจ มะเร็งปอด-เต้านม
"มะเร็ง" เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคร้ายที่คร่าชีวิตพลเมืองโลกมากที่สุด
ส่วนใหญ่กว่าจะรู้ตัวว่าถูกมะเร็งเล่นงาน โรคมักลุกลามเกินระยะแรกไปแล้ว
เพราะมันเป็นมัจจุราชเงียบที่ยังไม่แสดงอาการใดๆ ออกมาให้เห็นชัดเจน
การหมั่นตรวจสุขภาพเพื่อหามะเร็งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
ในปัจจุบัน เครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ล้ำสมัยไปมาก อาทิ วิธีตรวจแบบ Mammograms, CT Scan รวมถึงการผ่าตัดชิ้นเนื้อออกมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ
ล่าสุด คณะนักวิจัยสังกัดมูลนิธิไพน์สตรีท ในเมืองซานอันเซลโม รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ กำลังคิดค้นวิธีตรวจมะเร็งระยะแรกแนวใหม่ที่ต้องเรียกว่าเป็นแนวคิดแบบ "สูงสุดคืนสู่สามัญ"
เพราะทำโดยการนำ "สุนัข" มาดมกลิ่นลมหายใจของมนุษย์ เพื่อตรวจดูว่ามี "สารเคมี" ผิดปกติที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงโรคมะเร็งปนเปื้อนอยู่หรือไม่
สุนัขที่ทีมวิจัยนำมา "ฝึก" ดมกลิ่นความผิดปกติดังกล่าวมี 2 สายพันธุ์ นั่นคือ "ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์" ซึ่งเป็นสายพันธุ์สุนัขที่ตำรวจนิยมนำมาฝึกใช้ดมค้นหายาเสพติดและระเบิด กับ "โปรตุกีส วอเทอร์ด๊อก" สุนัขท้องถิ่นของโปรตุเกส
ทีมวิจัยอธิบายถึงวิธีการทดลองครั้งนี้ว่า ในลมหายใจของผู้ป่วยโรค "มะเร็งเต้านม" และ "มะเร็งปอด" จะมีสารอนุพันธ์ "แอลเคน" รวมทั้ง "เบนซีน" เจือปนอยู่มากกว่าคนปกติ
ดังนั้น ทีมวิจัยจึงนำลาบราดอร์ 3 ตัว และโปรตุกีส วอเทอร์ด๊อกอีก 2 ตัว มาฝึกดมกลิ่นแยกแยะสาร 2 ตัวนี้จากลมหายใจของผู้ป่วยมะเร็งทั้ง 2 ชนิด ซึ่งเป่าเก็บเอาไว้ในหลอดทดลอง
ผลการทดลองเบื้องต้นพบว่า จากจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเต้านม 31 คน สุนัขสามารถดมกลิ่นลมหายใจและชี้ตัวผู้ป่วยถูกต้องร้อยละ 88 ส่วนผู้ป่วยมะเร็งปอด ชี้ตัวถูกต้องถึงร้อยละ 99
การวิจัยครั้งนี้ต้องใช้เวลาต่อไปอีกระยะ ในอนาคตอาจใช้เป็นหนึ่งในวิธีการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มต้น ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ประเภทอื่นๆ
0 Comments:
Post a Comment
<< Home