Tuesday, August 01, 2006

ผู้ดีใช้"เศษช็อกโกแลต" ผลิตไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง

เซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) เป็นอีกหนึ่ง "พลังงานทางเลือก" ที่ได้การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า

สาร หรือ ตัวตั้งต้นที่นำมาผลิตเป็นเซลล์เชื้อเพลิงได้ก็มีหลายชนิด

เช่น ไฮโดรเจน-ไฮดราซีน โพรเพน-ออกซิเจน

ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การนำเอาไฮโดรเจน มาทำปฏิกิริยากับออกซิเจน

จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นไฟฟ้าและน้ำ

คุณลินน์ มาคาสกี และคณะนักวิจัยจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม สหรัฐอเมริกา กำลังทดลองผลิตพลังงานไฮโดรเจนเช่นกัน

แต่ตัวตั้งต้นที่นำมาใช้ผลิตไฮโดรเจนนั้นอาจแปลกๆ หูหน่อย

เพราะมันคือกาก "น้ำตาล" เหลือทิ้งจากโรงงานช็อกโกแลต

ลินน์ บอกว่า วิธีการสร้างไฮโดรเจนที่ตนกับทีมงานคิดค้นขึ้นมา ทำโดยการเติมน้ำตาลคาราเมลกับเศษถั่วอัลมอนด์ที่เหลือมาจากโรงงานผลิตช็อกโกแลต-ขนมหวานของบริษัทแคดบิวรีย์ ให้กับ "แบคทีเรีย" สายพันธุ์ "Escherichia Coli" โซ้ยเต็มคราบ

ระหว่างที่เจ้าแบคทีเรียอิ่มหนำสำราญกับของหวานเหล่านี้

พวกมันก็จะปล่อยไฮโดรเจนออกมา

ช่วยให้นักวิจัยนำไฮโดรเจนที่ได้ไปทำปฏิกิริยากับออกซิเจนและจ่ายไฟฟ้าออกมาในขั้นตอนสุดท้าย

ผลการทดลองเบื้องต้นพบว่า ไฮโดรเจนที่ได้จากแบคทีเรียนั้นมีปริมาณมากพอสำหรับการจ่ายไฟให้ "พัดลม" ขนาดเล็ก

ลินน์ ตั้งความหวังว่า ภายในระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้า บ้านในอังกฤษจะมีเครื่องปั่นไฟฟ้าพลังเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน-ออกซิเจน แบบเดียวกันนี้ใช้อย่างแพร่หลาย

โดยสิ่งที่นำมาใช้เดินเครื่องปั่นไฟก็คือ

ของหวานเหลือทิ้ง รวมถึงขยะต่างๆ ที่เกิดจากการบริโภคภายในครัวเรือนนั่นเอง

ความฝันนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ รออีก 10 ปีคงไม่รู้กัน...ถ้าประเทศต่างๆ ไม่รบกันครั้งใหญ่เพื่อแย่งน้ำมันจนโลกระเบิดไปเสียก่อน!

0 Comments:

Post a Comment

<< Home