Wednesday, September 13, 2006

"อะเมซอน อันบ็อกซ์" ขายหนัง-ละครออนไลน์

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2549 เว็บไซต์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่ "อะเมซอน ดอท คอม" เพิ่งเปิดตัวบริการใหม่ ที่ทีมผู้บริหาร นำโดยเจฟฟรีย์ เบซอส คาดหมายว่าจะเป็น "อนาคต" ของการชม-ซื้อ-เช่าภาพยนตร์และละครโทรทัศน์มาดูบนคอมพิวเตอร์

นั่นคือ "อะเมซอน อันบ็อกซ์" แปลเป็นไทย "แกะกล่องอะเมซอน" คงพอไหว

ในช่วงตั้งไข่บริการตัวนี้เปิดจำหน่ายเฉพาะลูกค้าที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาชิมลางก่อน

สินค้าที่นำเสนอ ได้แก่ ละคร-รายการทีวี รวมทั้งภาพยนตร์ดังๆ ในรูปแบบไฟล์ดิจิตอล ซึ่งผ่านการคัดสรรมาแล้วจากสถานีและสตูดิโอใหญ่ๆ ที่ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ

เช่น วอร์เนอร์บราเธอร์ส ยูนิเวอร์ซอล ซีบีเอส บีบีซี ฟ็อกซ์ การ์ตูนเน็ตเวิร์ก ดิสคัฟเวอรี่แชนแนล เอ็มทีวี ฯลฯ

อัตราค่าดาวน์โหลดละคร 1 ภาค อยู่ที่ 1.99 เหรียญ (79 บาท)

สำหรับภาพยนตร์มีหลายอัตรา ขึ้นอยู่กับความเก่า-ใหม่ เฉลี่ยตั้งแต่ 7.99-14.99 เหรียญ (319-599 บาท)

ในส่วนของภาพยนตร์ยังมีบริการให้ "เช่า" ชมด้วย ในราคา 3.99 เหรียญ (159 บาท)

ฟังก์ชัน หรือคุณสมบัติพิเศษของอะเมซอน อันบ็อกซ์ ก็คือคุณภาพความชัดเจนของหนัง ที่คุยว่าเทียบเท่า "ดีวีดี"

และเมื่อดาวน์โหลดไฟล์หนังไปได้ราวๆ 5 นาที ก็สามารถเปิดดูหนังไปพร้อมๆ กับรอดาวน์โหลดไฟล์จนจบได้เลย

อย่างไรก็ตาม บรรดานักข่าวที่ทดลองใช้บริการนี้บอกว่า ยังมี "ข้อจำกัด" ยุ่บยั่บมากเกินไป จนอาจส่งผลให้ยอดรายได้ไม่เข้าเป้า

ยกตัวอย่างเช่น ระบบเช่าหนังมาดูนั้นเมื่อโหลดมาแล้วต้องดูภายใน 30 วัน และทันทีที่เปิดดูก็ต้องดูให้จบภายใน 24 ชั่วโมง

ส่วนภาพระดับดีวีดี ถึงจะดีขนาดไหนย่อมไม่มีทางเท่ากับการซื้อดีวีดีมาเปิดดูบนโทรทัศน์ความละเอียดสูง (เอชดีทีวี) อย่างแน่นอน

นอกจากนั้นลูกค้าอะเมซอน อันบ็อกซ์ ยังต้องมีคอมพิวเตอร์ที่ลงโปรแกรม "วินโดว์เอ็กซ์พี เซอร์วิสแพ็ก 2" มีอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ และโปรแกรมเปิดดูหนังอันบ็อกซ์ที่โหลดมาก็ใช้ดูไฟล์หนังที่โหลดมาจากเว็บไซต์อื่นไม่ได้

ในวันนี้มีข่าวว่าคู่แข่งขันสำคัญของอะเมซอน คือ "แอปเปิ้ล" จะเปิดตัวบริการขายหนัง-ละครออนไลน์เหมือนกัน ซึ่งแม้จะมีหนังน้อยกว่า แต่มีภาษีดีกว่าตรงที่มีกลุ่มฐานลูกค้าเครื่องเล่น "ไอพ็อด" (ของแอปเปิ้ล) อยู่หลายล้านคนทั่วโลก

ศึกงวดนี้ใครจะอยู่ใครจะไปผู้บริโภคไม่เกี่ยว ปล่อยให้แข่งกันเต็มที่แบบนี้ลูกค้ามีแต่จะได้ของดีราคาถูก

0 Comments:

Post a Comment

<< Home