"ข้าวโพดจีเอ็มโอ" ผลิตเชื้อเพลิงเอทานอล
หลายปีที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ (ไบโอเทค) ซึ่งพัฒนาพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ "พืชจีเอ็มโอ" ต้องเผชิญกระแสต่อต้านอย่างหนัก
จากทั้งฝ่ายกลุ่มผู้คุ้มครองผู้บริโภค นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และตัวผู้บริโภคเอง
ประเด็นหลักของการต่อต้าน เพราะไม่มั่นใจว่าหน่วยพันธุกรรมต่างๆ ที่ตัดต่อเข้าไปในพืช เช่น ข้าวโพด
จะปลอดภัยต่อสุขภาพร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่ทำลายสายพันธุ์พืชตามธรรมชาติ เหมือนกับที่บริษัทไบโอเทคประชาสัมพันธ์
เมื่อสถานการณ์ออกมารูปนี้ บ.ไบโอเทคใหญ่ๆ จึงจำเป็นต้อง "ดิ้น" หากลยุทธ์เปิดตลาดช่องทางใหม่
นั่นคือ พัฒนาพืชจีเอ็มโอที่มีคุณสมบัติสูงต่อการนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงพลังงานทางเลือกประเภท "เอทานอล"
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเอทานอลที่มูลนิธิสถาบันพลังงาน ระบุไว้ก็คือ สามารถผลิตได้จากวัตถุดิบหลายชนิด
ชนิดที่ง่ายที่สุด ได้แก่ น้ำตาลหรือกากน้ำตาลจากอ้อย หัวบีทรูทหรือพืชที่ให้ความหวานอื่นๆ ซึ่งนำเข้าสู่กระบวนการหมักได้เลย
ส่วนพืชแป้งเช่นข้าวโพด ข้าว มันสำปะหลัง มันฝรั่ง มันเทศ ต้องนำมาบดแล้ว "หมัก" ให้แป้งกลายเป็นน้ำตาลเสียก่อน
นอกจากนั้น ยังสามารถนำเศษขี้เลื่อย เศษไม้ ฟางข้าว ผักตบชวา หญ้าแฝกหรือเยื่อใยจากพืชอื่นๆ มาผ่านกระบวนการย่อยสลายด้วยกรดหรือบัคเตรีให้กลายเป็นน้ำตาลเพื่อหมักเป็นเอทานอลได้เช่นกัน
แต่ทุกกระบวนการผลิตจะต้องลงท้ายด้วยการหมักด้วยส่าหรือยีสต์เสมอ จากนั้นถึงนำไปกลั่นเพื่อแยกเอาเอทานอลออกมาจากส่วนผสมและนำไปผ่านกระบวนการแยกน้ำให้กลายเป็นเอทานอล 99.5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำมาใช้งานในรูปแบบน้ำมันเชื้อเพลิงต่อไป
ล่าสุด บริษัทซินเจนตาของสหรัฐตัดสินใจเลือกเอา "ข้าวโพด" มาตัดต่อดัดแปลงพันธุกรรมให้มี "เอนไซม์" ชนิดพิเศษ ช่วยให้ข้าวโพดย่อยสลายหมักตัวเองกลายเป็นเอทานอลง่ายขึ้น โดยไม่ต้องรอการนำข้าวโพดไปผสมกับเอนไซม์ตัวนี้ในกระบวนการปกติ
สำหรับเทคนิควิธีการสร้าง "ข้าวโพดเอทานอล" ดังกล่าวยังเป็นความลับ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลมากนัก และเริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แล้วว่า เป็นแนวคิดที่ไม่เหมาะสม
เนื่องจากไม่ควรนำ "พืชเพื่อการบริโภค" ไปผลิตเชื้อเพลิงป้อนพาหนะฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล
ปัญหาใหญ่ของบ.ไบโอเทควันนี้ คือ คนไม่เชื่อใจในข้อมูลและวิธีการผลิตไปเสียแล้ว ไม่ว่าจะขยับเหลี่ยมไหนจึงโดนต้านไปหมด!
0 Comments:
Post a Comment
<< Home