"อะโดบี้"คิดโปรแกรม จับผิด"ภาพตัดต่อ"อัตโนมัติ
การตัดต่อ ดัดแปลง แก้ไข "ภาพถ่าย" นั่นทำกันมานานแล้ว
แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน ปัญหา "ภาพตัดต่อ" ดังกล่าวต้องถือว่าจัดอยู่ในขั้นรุนแรงทบเท่าทวี
เนื่องจากเทคโนโลยีดิจิตอล บวกกับความสามารถของโปรแกรมแต่งภาพยอดฮิตอย่าง "โฟโตช็อป" ได้ทำให้การตัดต่อภาพกลายเป็นเรื่องหมูๆ
แม้แต่ช่างภาพของสำนักข่าวต่างประเทศชั้นนำ "รอยเตอร์" หลายต่อหลายคน ก็ละทิ้งจรรยาบรรณ ใช้คอมพิวเตอร์ปลอมแปลงภาพถ่ายของตนเองแบบดื้อๆ
เพียงเพราะอยากรูปของตนมีความเร้าใจ ตื่นเต้น กว่าเหตุการณ์จริง
โดยกรณีที่สร้างความเสื่อมเสียให้รอยเตอร์มากที่สุด คือ การที่นายอัดนัน ฮัจจ์ ตากล้องซึ่งเข้าไปเก็บภาพบันทึกเหตุกองทัพอิสราเอลทิ้งบอมบ์ถล่มประเทศเลบานอน เมื่อปีก่อน
แต่พอถ่ายออกมาแล้วเห็นว่ากลุ่มควันดูไม่ร้ายแรงพอ นายอัดนันจึงใช้คำสั่ง "Clone Stamp" ในโฟโต้ช็อป ก๊อปปี้ตัดต่อนำภาพกลุ่มควันสีดำมาใส่เพิ่มเติมอีกกลุ่มหนึ่ง
ล่าสุด ทั้งทางรอยเตอร์และบริษัทอะโดบี้ ผู้คิดค้นโฟโตช็อป จึงร่วมมือกันพัฒนาโปรแกรมตัวใหม่
ซึ่งช่วยให้คอมพิวเตอร์แยกแยะออกมาได้ว่าสิ่งที่เห็นอยู่ในภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอลต่างๆ นั้น เป็นภาพที่เกิดจากการตัดต่อหรือไม่?
รายละเอียดเบื้องลึกเบื้องหลังของโปรแกรมจับผิดภาพตัดต่อนี้ยังไม่มีการเปิดเผย
แต่มีข่าวกระเส็นกระสายเล็กๆ น้อยๆ หลุดมาตามสื่อมวลชนอเมริกันบางสำนัก ว่า
โปรแกรมดังกล่าวของอะโดบี้จะใช้ธีตรวจวิเคราะห์ "พิกเซล" หรือจุดสีต่างๆ ที่รวมตัวกันขึ้นมาจนเป็นภาพๆ หนึ่ง
นอกจากนั้น ยังจะใช้วิธีสแกนภาพเพื่อดูว่าผ่านการแต่งด้วยคำสั่ง "Clone Stamp" รวมถึงคำสั่งอื่นๆ มาหรือไม่
แล้วก็อาจจะพัฒนาโปรแกรมไปให้ไกลถึงขั้นที่สามารถแยกแยะได้ว่า ภาพต่างๆ ถ่ายมาจากกล้องดิจิตอลยี่ห้ออะไร
ทุกวันนี้คงอาศัยแต่ "ตา" คอยจับผิดดูอย่างเดียวคงไม่ไหวครับ เพราะเทคนิคการตัดต่อภาพนั้นยอมรับว่า "เนียน" จริงๆ โดยเฉพาะภาพจำพวกนำหน้าดาราไปปะเข้ากับตัวนางแบบเรตเอ็กซ์ทั้งหลาย!
0 Comments:
Post a Comment
<< Home